Wednesday, May 17, 2017

The low sky, understanding the dutch





หนังสือชื่อ  :  The low sky, understanding the dutch

ผู้แต่ง  :  Han van der Horst

สำนักพิมพ์  :  Scriptum


เนื่องด้วยออยย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ค่ะ พอมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ต่างวัฒนธรรม ก็ได้สัมผัสถึงความแตกต่าง แต่ก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมคนดัตช์จึงคิด จึงกระทำเช่นนั้น -- หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนจะเป็นคำตอบค่ะ

ผู้แต่งเป็นคนดัตช์เองเลยค่ะ แต่เขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ จุดประสงค์เพื่อจะสื่อสารให้คนต่างชาติเข้าใจวิธีคิด เบื้องหลัง พื้นเพที่มาของความคิดนั้นของคนดัตช์ค่ะ

โครงสร้างของหนังสือเริ่มจากบทนำ ที่กล่าวว่า สถาบันทางการศึกษาของดัตช์แห่งหนึ่ง (Royal Tropical Institute) ได้ทำการศึกษาพื้นเพนิสัยของคนดัตช์ และสรุปออกมาสั้นๆ ได้ 5 คำ คือ "egalitarian, utilitarian, organized, trade-oriented, privacy-minded" หรือแปลว่า "ยึดหลักในความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน, ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ, เป็นระบบ, มุ่งเน้นการค้า และ ถือความเป็นส่วนตัว" -- นี่คือนิสัยคนดัตช์โดยรวมค่ะ

ยึดหลักในความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน (egalitarian)  -- คนดัตช์มี motto ที่ใช้กันอยู่เสมอคือ "doe maar gewoon, dan doe je gek genoeg.'' ออยแปลเองขำๆ ว่า "ทำตัวปกติเถอะ แค่นั้นแกก็แปลกพออยู่แล้ว" 
คนดัตช์ไม่ค่อยมีลำดับชั้นทางสังคมแตกต่างกันมากนัก แม้แต่กษัตริย์เอง ถึงแม้จะมีการให้เกียรติมากกว่าปกติ แต่ก็นิดหน่อยค่ะ วังของกษัตริย์ก็ไม่ได้หรูหราอะไรมากเมื่อเทียบกับวังของราชวงศ์ข้างเคียง -- การอวดรวยในสังคมดัตช์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครทำกันค่ะ

คนดัตช์เป็นคนใจกว้างค่ะ ตัวอย่างเช่น พระราชินีของดัตช์องค์ปัจจุบัน คืือ Maxima ซึ่งเป็นคนอาร์เจนตินา หากแต่คนดัตช์ก็เปิดใจรับ และรักเธอ 

ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ (utilitarian)  -- เนื่องด้วยประเทศเนเธอร์แลนด์มีพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลค่ะ คนดัตช์จึงต้องต่อสู้กับระดับน้ำทะเล เพื่อรักษาพื้นดินไว้ ดังนั้นจึงต้องถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญไปโดยอัตโนมัติ เพราะถ้าไม่ช่วยกัน มั่วแต่ริษยา ขัดขากันไปมา น้ำก็ท่วมจมกันไปทั้งหมดพอดี -- ข้อนี้เลยกลายเป็นนิสัยของคนประเทศนี้ไปค่ะ 

เวลาคนดัตช์มีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ด้วยความที่เป็นคนใจกว้าง และยึดหลักความเสมอภาคของทุกคน ดังนั้นเขาจะมานั่งถกกันค่ะ เพื่อหาทางออกทีเป็นผลประโยชน์ต่อส่วนรวมร่วมกัน ทางออกนั้นต้องเป็นฉันทามติด้วย คือทุกคนต้องเห็นพ้องกัน -- วิธีนี้อาจทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่เป็นวิธีการที่รอบคอบมากค่ะ และจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

เป็นระบบ (organized) -- ผู้เขียนเล่าว่า เนื่องด้วยการรักษาพื้นดินไม่ให้จมใต้ทะเล จำเป็นต้องใช้วิศกรรมที่ซับซ้อน เช่น การสร้างเขื่อน กังหันลม หรือปั๊ม ซึ่งต้องเป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ คน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการที่ดี -- การจัดการที่มีระบบเลยกลายเป็นนิสัยของคนดัตช์ไปเลยค่ะ

เช่น คนดัตช์เป็นคนรักษาเวลาค่ะ ถ้านัดแล้วต้องมาตรงเวลา กำหนดการ งานนัดหมายอะไรทุกอย่างจะถูกเขียนไว้ในไดอารี่ เป็นการวางแผนล่วงหน้า ทำอะไรต้องนัดค่ะ เช่น จะไปติดต่อราชการ ถ้าเดินดุ่มๆ เข้าไป ไม่เกิน 5 นาทีจะต้องออกมาค่ะ พร้อมด้วยกระดาษนัดหมายวันให้มาพบกันใหม่ -- การไปบ้านคนอื่นโดยไม่ได้นัดบอกเขาล่วงหน้า เป็นเรื่องที่เสียมารยาทมากค่ะ แม้กระทั่งคนเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทกัน คิดถึงจะไปเยี่ยมเขา ก็ต้องนัดก่อนค่ะ

ในที่ทำงาน คนดัตช์จะเป็นพวกบ้าประชุมค่ะ มีอะไร ก็ประชุมๆๆ กัน หาทางออกที่เป็นฉันทามติร่วมกัน ใครที่อิดออด บ่ายเบี่ยงไม่ยอมเข้าประชุม จะโดนแบนค่ะ คือถ้าอยากจะพูดอะไร ควรไปพูดกันอย่างอิสระในห้องประชุม ถ้าไม่เข้าประชุม หรือเข้าแล้วไม่พูดอะไร มาพูดลับหลัง คำพูดนั้นจะไม่ได้รับความสนใจค่ะ -- ประธานในที่ประชุม ซึ่งก็คือผู้จัดการหรือหัวหน้า มีหน้าที่เพียงแค่ให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตนค่ะ -- ประธานไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจนะคะ ที่ประชุมจะตัดสินใจร่วมกัน

คนดัตช์มักเป็นพวกนักวางแผนล่วงหน้า ชอบออกกฎมาป้องกันไว้ก่อน ก่อนที่จะเกิดปัญหาจริงๆ ดังนั้นกฎหมายดัตช์จึงจะมีรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ มากมายค่ะ แล้วก็เปลี่ยนบ่อยด้วย เพราะถ้าสถานการณ์โลกเปลี่ยน กฎหมายดัตช์ก็เปลี่ยน -- แต่ถ้าสมมุติเกิดเรื่องใหญ่ อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้นล่ะ -- คนดัตช์จะทำอย่างไร? -- คนดัตช์จะไม่สามารถในการตอบโต้ปัญหาอย่างฉับไวค่ะ จะจัดการ "ตั้งคณะกรรมการสอบสวน" หาสาเหตุที่เกิดขึ้น กว่าสอบเสร็จ ก็โน่นเลย นานเป็นปี -- ดูตัวอย่างอย่างกรณีเครื่องบิน MH17 ที่โดนยิงตกที่เหนือดินแดนของยูเครนสิคะ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น ดัตช์ก็ตั้งกรรมการสืบสวน -- ตอนนั้นออยจำได้ว่า ข่าวทั้งสำนักข่าวอเมริกัน และคนไทยก็กังวลว่า ดัตช์จะขอความร่วมมือกับนาโต้ เพื่อถล่มรัสเซีย แล้วอาจจะเป็นชนวนเกิดสงครามโลกขึ้น เพราะมีบทเรียนจากเหตุการณ์ 911 ที่อเมริกาสั่งบอมอัฟกานิสถานแทบจะทันทีหลังเกิดเหตุ -- แต่นี่ไม่ค่ะ คนดัตช์ขอเวลาสืบสวน จนรู้ชัดว่าใครทำ จากนั้นก็จะหาตัวคนทำ นำไปขึ้นศาลโลก สู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

มุ่งเน้นการค้า (trade-oriented) -- ดัตช์เป็นชาติพ่อค้ามาแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่า เช่นจากเดิมที่คนดัตช์ออกเรือไปหาปลา เอาปลามาขายในตลาด แต่ปัจจุบันดัตช์พยายามมุ่งนั้นให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางในการขายปลามากกว่าหาปลามาขายเอง -- หัวการค้าไหมล่ะคะ -- เป็นพ่อค้าคนกลางใช้สมองมากกว่า แต่ได้เงินมากกว่าคนหาปลาเอง

เนื่องด้วยความเป็นนักค้าขายโดยนิสัย คนดัตช์จึงเปิดกว้างกับการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศค่ะ นับได้ว่าคนดัตช์ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่นะคะ) ผู้เขียนยกตัวอย่างว่า หนังสือภาษาต่างด้าวที่ไม่ใช่ภาษาดัตช์ สามารถหาซื้อได้ง่ายในเนเธอร์แลนด์ แม้แต่ในร้านหนังสือเล็กๆ ในหมู่บ้านห่างไกลก็ยังมีขาย -- นิสัยคนค้าขายนี้ ทำให้คนดัตช์เป็นมิตรกับทุกคนค่ะ ใจกว้าง ไม่สร้างศัตรู โดยมีคำกล่าวเก่าแก่ที่ว่า "Know your neighbours, for they are all potential customers" -- รู้จักกับเพื่อนบ้านของคุณ ไม่แน่เขาอาจจะมาเป็นลูกค้าของคุณก็เป็นได้

ความมีนิสัยรักการค้าขาย ทำให้คนดัตช์มีเปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นเจ้าของกิจการสูงค่ะ คือคนดัตช์ถือเป็นเรื่องปกติที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจเป็นของตัวเอง 

เนื่องด้วยวัฒนธรรมแบบนี้ เครดิตจึงเป็นเรื่องใหญ่ค่ะ สำหรับคนดัตช์แล้ว การถูกศาลสั่งล้มละลาย หรือเป็นคนล้มละลาย เป็นเรื่องใหญ่ค่ะ เพราะเป็นเรื่องของเครดิต ดังนั้นคนดัตช์จึงค่อนข้างระมัดระวังกับการใช้เงิน จะไม่ค่อยเห็นคนดัตช์ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า ส่วนใหญ่จะใช้เดบิตค่ะ -- นิสัยไม่ชอบเป็นหนี้นี้ ไม่ได้เป็นแต่คนดัตช์ปกตินะคะ ระดับรัฐบาลก็เป็นค่ะ รัฐบาลดัตช์มีหนี้น้อยกว่ารายได้มากค่ะ

ถือความเป็นส่วนตัว (privacy-minded) -- อันนี้ดูจะแตกต่างกับวัฒนธรรมไทยมากที่สุดค่ะ คนดัตช์ไม่ชอบสร้างความรำคาญให้คนอื่นด้วยเรื่องส่วนตัวของตนเอง เช่น คนแก่ดัตช์ ก็จะพยายามช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด อาจจะมีลูกหลานแวะมาเยี่ยม แต่ถึงขั้นเลี้ยงดู อยู่ดูแล แบบสังคมไทย อันนี้ไม่มีค่ะ 

หรือในเรื่องโศกเศร้า การเล่าเรื่องตัวเอง ความทุกข์ของตัวให้คนอื่นทั่วไปฟัง ไม่ใช่เรื่องที่คนดัตช์ทำกันค่ะ (ถ้าเขามีปัญหา เขาก็ควรไปเล่าให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ ฟัง -- นี่อาจจะคือเหตุผลที่คนดัตช์เป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะก็ได้มั่งคะ เก็บกด ไม่เล่าเรื่องส่วนตัวให้ใครฟังถ้าไม่ใช่คนที่สนิทกัน)

เนื่องด้วยคนดัตช์ไม่เปิดเผยอารมณ์ส่วนตัวแบบนี้ และไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของคนอื่นเช่นนี้ ดังนั้นคนดัตช์จึงจะไม่ให้ความช่วยเหลือคนอื่นค่ะ ถ้าเขาไม่ได้ร้องขอ (เพราะกลัวว่าจะไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา) -- ก็พอกันเลย -- เช่น ปัญหาของผู้อพยพที่ย้ายเข้าอยู่เนเธอร์แลนด์ พวกเขาต้องสอบภาษาดัตช์ระดับพื้นฐานให้ผ่าน แต่มันยากสำหรับบางคนไงค่ะ ผู้อพยพก็ไม่รู้จะขอความช่วยเหลืออย่างไร ส่วนคนดัตช์เองก็ไม่กล้าเข้าไปช่วย เพราะเขาไม่ได้ขอ

และด้วยความที่คนดัตช์เป็นคนใจกว้างนี้ การโจมตีคนอื่นด้วยเรื่องส่วนตัว (เช่น เขาเป็นเกย์ รสนิยมการแต่งกาย อาหาร) จึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิงค่ะ

บทสุดท้ายของหนังสือเป็นบทสรุปค่ะ เล่าถึงปัญหาของประเทศเนเธอร์แลนด์ ความขัดแย้งในอดีต ปัจจุบัน และคาดการณ์ว่า ความขัดแย้งในปัจจุบันที่มีอยู่นี้ จะเริ่มบานปลายใหญ่ขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น xenophobia ความกลัวคนมุสลิม จนกลายเป็นการเหยียดชาติพันธุ์ไป ความกลัวการหลั่งไหลมาของผู้อพยพจากชาติมุสลิม -- สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นๆ ค่ะ 

ในบทนี้หนังสือได้กล่าวถึง ช่วงเวลาที่รุ่งเรืองของดัตช์ ที่เกิดจากการค้าทาส (อ่านแล้วโมโหหน่อยๆ เลยค่ะ -- แบบพี่แกค้ามนุษย์ และปฏิบัติกับพวกเขาไม่ต่างจากวัวควาย ซึ่งกลายมาเป็นบาดแผลอันเจ็บปวดของคนผิวดำในปัจจุบัน) หรือช่วงเวลาที่ดัตช์มีอาณานิคม และยุคปลดปล่อยอาณานิคม -- คือ คนเขียนเป็นคนดัตช์นะคะ เขาอาจจะพยายามเขียนให้เป็นกลางที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีโทนของการปกป้องประเทศตัวเองอยู่ค่ะ

ส่วนตัวคิดว่า หนังสือเล่มนี้อ่านยากค่ะ คือถ้าไม่ได้คุ้นเคย หรือใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปมาสักระยะ จะอ่านไปก็งงไปกับชื่อคน หรือเหตุการณ์ต่างๆ อ่านไปก็ต้องพึ่ง google ค้นหารายละเอียดของชื่อ หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นที่ผู้เขียนยกมาเล่าแค่สั้นๆ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด

แนะนำว่า ถ้าจะอ่าน ให้อ่านบทแรกที่เป็น บทนำ (Introduction) ก่อนค่ะ จากนั้นก็พลิกไปอ่านบทสุดท้าย เพราะอันนั้นจะเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยเรียงตามลำดับเหตุการณ์ จะได้ไม่งง จากนั้นค่อยมาอ่านบทที่ 2,3,4 ... ต่อไปตามปกติค่ะ