Friday, November 25, 2022

หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ

 


หนังสือชื่อ  :  หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ

ผู้แต่ง  :  มิยาชิตะ นัตสึ

ผู้แปล  :  พิมพ์พชร คุณโสภา

สำนักพิมพ์  :   อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)


ซื้อมาอ่านเพราะชอบชื่อเรื่องค่ะ ... เป็นหนังสือที่ดีนะคะ ไม่เลวเลย แต่ออกแนวสงบๆ เหมือนเสียงเปียโนเบาๆ น่ะค่ะ ประกอบกับสำนวนการแปลที่ดี แต่ไม่ว้าว เลยทำให้อรรถรสของหนังสือดูเฉยๆ ไปเลยค่ะ ...น่าเสียดาย

-

เนื้อเรื่องไม่หวือหวา แต่ดีค่ะ ไม่ใช่หนังสือฮาวทูแบบตั้งใจ แต่เรื่องเล่าในหนังสือกลับให้แง่คิดได้ดีทีเดียวเลย เป็นเรื่องของช่างจูนเปียโนหนุ่มชื่อ โทมุระ ที่ค้นพบว่าตัวเองหลงใหลในเสียงของเปียโนตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นการทำงานของช่างจูนเปียโนที่มาจูนเปียโนที่โรงเรียนมัธยม  

ตรงนี้เหมือนความประทับใจแรกเลยค่ะ ครั้งแรกที่โทมุระได้ยินเสียงจากการจูนเปียโน โดยผู้จูนคือช่างจูนเปียโนอัจฉริยะ ... มันคือสัมผัสของผู้เชี่ยวชาญทีทำให้โทมุระตกหลุมรักและต้องการเรียนการจูนเปียโน 

โทมุระมุมานะเรียนเป็นช่างเปียโน และกลับมาทำงานในบริษัทเดียวกับคุณอิทาโดริ นักจูนเปียโนอัจฉริยะ ... เนื้อเรื่องจึงเป็นเรื่องของโทมุระที่พยายามฝึกฝน มุมานะ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกท้อ เพราะดูเหมือนเขาจะไม่มี "พรสวรรค์" ทางด้านนี้เอาเสียเลย มีก็แต่ความหลงใหลในการสร้างเสียงของเปียโนเท่านั้น ที่ทำให้โทมุระมุมานะฝึกฝนอยู่ต่อไป 

ตรงนี้มันก็เหมือนเราทุกคนแหละค่ะ คณะที่เราเลือกเรียน อาชีพที่เราเลือกทำ เราเลือกทำตอนแรกเพราะรู้สึกชอบ แต่ทำไปทำมา ถ้าผลลัพธ์ของการพยายามออกมาไม่ดีนัก ทำไปทำมาก็รู้สึกท้อได้เช่นกัน เหมือนพยายามเท่าไรก็ไม่ได้ดีสักที ... ใครที่กำลังรู้สึกเช่นนี้อยู่ แนะนำให้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านค่ะ ...ลึกซึ้งทีเดียว 

-

1. เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของช่างจูนเปียโนค่ะ ... คืออาชีพช่างจูนเปียโนก็เป็นอาชีพเฉพาะทางอยู่แล้ว แถมเปียโนก็เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ใช่ว่าคนอ่านทุกคนจะเล่นเป็น หรือเคยเล่น แถมเรื่องยังดำเนินที่ญี่ปุ่น... ดังนั้นเนื้อเรื่องโดยพื้นฐานก็ทำให้คนอ่านมีส่วนร่วมกับเนื้อหายากอยู่แล้ว 

2. เนื่องเป็นเรื่องของ "เสียง" เปียโน ซึ่งหนังสือไม่สามารถเปล่งออกมาให้ฟังได้ ดังนั้นนักเขียนจึงพยายามอุปมาอุปมัยเสียงเปียโนออกมาให้เห็นเป็นภาพ โดยให้ในความคิดของโทมุระ เสียงเปียโนที่ดีจินตนาการเชื่อมไปถึงเสียงธรรมชาติในป่า ดอกไม้ ต้นไม้...​ในหนังสือมีการเขียนบรรยายถึงต้นไม้ ดอกไม้หลายชนิดเลยค่ะ แต่เป็นชื่อญี่ปุ่น ... ที่น่าเสียดายคือคนแปลไม่ยอมหาชื่อละตินใส่ให้ในเชิงอรรถ เลยทำให้คนอ่านจะเสิร์จหารูปต่อก็ไม่ได้ เช่น คนเขียนเขียนถึงต้นอิงโกะ ซึ่งเป็นต้นไม้ของฮอกไกโด ... แต่เสิร์จหารูปไม่เจอ คนแปลก็บอกแค่ชื่อ "ต้นอิงโกะ" คนอ่านก็จิตนาการไม่ออกว่าต้นมันหน้าตาอย่างไร เป็นต้น หรืออีกตอน บรรยายว่า "ค้อนที่จะเคาะลงกับสายนั้นดูราวกับดอกตูมของดอกคิตะโคบุชิ" ... แล้วเชิงอรรถ ผู้แปลก็บอกแค่ว่า มันคือ "ดอกไม้สีขาว ดอกตูมมีขนอ่อนคล้ายกำมะหยี่ของค้อนเปียโน" ... แค่เงี่ย!!! คิดว่าถ้าใส่ชื่อละตินให้ค้นดูรูปก็ดีนะคะ เราคนอ่านจะได้เห็นภาพตามได้

3. ในหนังสือยกกลอน (หรือบทความ?) ของนักเขียนชื่อ ฮาระ ทามิกิ ที่ทั้งโทมุระ (ตัวเอกของเรื่อง) และเพื่อนร่วมงาน คุณอิทาโดริ ต่างชื่นชอบ ... แต่คือกลอนนั้นอ่านแล้ว รู้สึกเฉยมากค่ะ คือมันน่าขนลุกตรงไหน? เป็นที่แปลได้ทื่อๆ ตรงๆ หรือเป็นที่กลอนมันไม่ว้าวแต่แรกอยู่แล้วก็ไม่ทราบได้ค่ะ

คืออาจจะคาดหวังกับการแปลที่เยี่ยมเยอะเกินไปน่ะค่ะ เพราะก่อนหน้านี้เคยอ่านหนังสือแปลจากภาษาญี่ปุ่นชื่อ "พระอาทิตย์เที่ยงคืน" ไป ซึ่งเล่มนั้นคนแปลเป็นไทยแปลดีมาก มีเชิงอรรถอธิบายต่างๆ ให้คนไทยที่ไม่เคยสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้าใจ ... คือถ้าคนแปลแปลแบบ "ฟังเสียงที่อยู่หัวใจ" เหมือนโทมุระ ในเรื่องนี้ หนังสือจะออกมาเยี่ยมเลยค่ะ

Tuesday, November 22, 2022

The Library of Lost and Found

 


หนังสือชื่อ  :  The Library of Lost and Found

ผู้แต่ง  :  Phaedra Patrick

สำนักพิมพ์  :  HaperCollins Publishers Ltd


ถึงแม้เหตุการณ์ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้จะเกิดขึ้นที่เมือง Sandshift ประเทศอังกฤษ แต่เราคนไทยจะอ่านแล้ว "อิน" กับเรื่องราวในหนังสือนี้ไม่ยากเลยค่ะ ... หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับ ลูกกตัญญู คนที่รู้สึกว่าตัวเองทำดี ทำเพื่อคนอื่น เสียสละเพื่อคนอื่นเสมอมา แต่กลับไม่มีใครเห็นคุณค่าเลย 

ตัวเอกของเรื่องคือ Martha Storm เป็นหญิงวัยกลางคน เธอเป็นอาสาสมัครบรรณารักษ์ของห้องสมุดประจำเมืองค่ะ เธอเป็นคนดี (ดีจริงๆ ไม่ได้ประชด) เป็นคนที่ใครร้องขอให้ช่วยก็ไม่เคยปฏิเสธเลยค่ะ มีนิสัยคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ ที่เป็นแบบนั้นเพราะเธอรู้สึกว่าตัวเธอมีคุณค่าเมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่น ... แต่ความซวยของเธอคือเธออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนรอบตัวเธอคิดถึงแต่ตัวเองก่อนเสมอ ดังนั้นไม่ว่าเธอจะทำดีแค่ไหน ช่วยเหลือคนอื่นยังไง ก็ไม่มีใครเห็นค่าค่ะ แถมออกแนวว่าถ้าใช้เธอได้ก็ใช้ กลายเป็นเธอถูกเอาเปรียบอยู่เสมอๆ แถมยังรู้สึกว่าเธอน่ารำคาญ ไร้ประโยชน์ด้วยซ้ำ เห็นจากการที่เจ้านายของเธอปฏิเสธใบสมัครเป็นบรรณารักษ์ของเธอถึงสองครั้งสองครา และไปคว้าคนอื่นที่อายุน้อยกว่า ทั้งๆ ที่เธอช่วยงานในห้องสมุดมาหลายปี และทำหน้าที่เสมือนเป็นบรรณารักษ์ประจำด้วยซ้ำ

คนดีแบบนี้ ควรจะต้องมีคนคอยปกป้อง ป้องกันพวกที่มาเอาเปรียบ แต่ความซวยของ Martha คือ แม้แต่คนในครอบครัวของเธอเองก็ยังคิดถึงแต่ตัวเองก่อน และเอาเปรียบเธอเลย เห็นจากการที่เธอต้องเลือกเลิกกับคนรักเพื่ออยู่บ้านดูแลพ่อแม่ที่ป่วย ทั้งๆที่เธอมีน้องสาวอาศัยอยู่ไม่ไกล แต่น้องไม่ช่วยอะไรนัก กลายเป็นว่าเธอต้องทำงานดูแลพ่อแม่เต็มเวลา จนกระทั่งพ่อแม่ตายจากไป ... พอพ่อแม่ตาย Martha ก็เป็นสาวแก่ โสด หมดโอกาสมีลูก และไม่มีใครแล้วค่ะ เวลาชีวิตหายไปเป็นสิบปีเลย

จุดเปลี่ยนของเรื่องก็เกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง เธอเจอหนังสือชำรุดที่ส่งมาบริจาคที่ห้องสมุด กลายเป็นว่าหนังสือนั้นมีเขียนโน้ตว่า เป็นของขวัญมอบให้ Martha จากคุณยายของเธอ ... ที่น่าสังเกตคือปีที่หนังสือนั้นมอบให้เธอ คือสามปีหลังจากการตายของคุณยาย ... จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสาวราวเรื่องในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

หนังสือจะเล่าเรื่องในปัจจุบันในมุมมองของ Martha สลับกับเรื่องในอดีตในมุมมองของ Betty (แม่ของ Martha) ค่ะ เรื่องจะค่อยๆ คลายปมดราม่าในครอบครัวว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต

อ่านไปก็จะขัดใจไปค่ะ คือพ่อของ Martha เป็นพวกบ้าอำนาจ ชอบควบคุมบงการ ส่วนแม่ก็อ่อนแอ ต้องการการปกป้อง ดังนั้นเธอจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาใจพ่อ ด้วยนิสัยคนหนึ่งแข็ง อีกคนอ่อนปวกเปียก เมื่อมาอยู่ด้วยกัน แม้แม่จะไม่มีความสุขเท่าไรนัก แต่ครอบครัวก็ยังดำเนินไปได้ ...แต่ในทางตรงกันข้าม ยายของ Martha กลายเป็นคนทำเรื่องป่วน ยายกับพ่อไม่ถูกกัน และงัดข้อกันเสมอๆ ทำให้แม่ที่อยู่ตรงกลางลำบากใจ 

พ่อแม่ของ Martha คือพ่อแม่ประเภท เด็ดปีกนางฟ้าของลูกตัวเองค่ะ เพราะ Martha เป็นเด็กช่างจินตนาการ และชอบเขียนนิทานเล่าเรื่องต่างๆ ... (ในหนังสือจะสลับหยิบนิทานที่ Martha แต่งมาเล่าด้วยค่ะ ซึ่งเป็นนิทานสั้นที่ดีเลยทีเดียว ส่วนตัวชอบนิทานตรงนี้มาก) ... คือ Martha เป็นลูกสาวที่นิสัยต่างจากพ่อไงคะ พ่อที่บ้าอำนาจและมองโลกแค่ด้านเดียวเลยมองว่า Martha ทำสิ่งไร้ประโยชน์ ในขณะที่น้องสาวของ Martha นิสัยคล้ายพ่อ ดังนั้นน้องสาวจึงไม่มีปัญหา ออกบ้าอำนาจนิดๆ เป็นพวกคิดถึงตัวเองก่อน

ทั้งเรื่องจะรู้สึกหงุดหงิดที่ ส่ิงที่ Martha ทำ ไม่มีใครซาบซึ้งหรือรู้สึกว่าเธอเสียสละเลย ไม่แม้แต่พ่อแม่ของเธอ คือพ่อแม่มองว่ามันคือหน้าที่เธอไง ที่ต้องอุทิศชีวิตในการดูแลพวกเขายามชรา ไม่มีขอบคุณ ...คือรู้สึกว่า ถ้ามีครอบครัวแบบนี้ ชีวิตนี้ไม่จำเป็นต้องมีศัตรูหรอก

หนังสือสนุกตรงที่ เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เราได้เริ่มเห็นพัฒนาการการสู้เพื่อตัวเองของ Martha จากเดิมที่หวังว่าจะมีใครสักคนปกป้องเธอจากการโดนเอาเปรียบ มาเป็นการยืดหยัดเพื่อตัวเอง และรู้จักที่จะปฏิเสธคนอื่นในส่ิงที่ไม่อยากทำ




Sunday, November 13, 2022

The Fault in Our Stars

 


หนังสือชื่อ :  The Fault in Our Stars

ผู้แต่ง  :  John Green

สำนักพิมพ์  :  the Penguin Group


สวย ซึ้ง ให้แง่คิด สมเป็นวรรณกรรมเยาวชนจริงๆ ค่ะ เป็นเล่มที่อยากแนะนำให้วัยรุ่นทุกคนได้อ่านกัน หรือผู้ปกครองที่ลูกของตัวเองกำลังต่อสู้อยู่กับโรคร้าย อยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ค่ะ

หนังสือเล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทยด้วยนะคะ ชื่อ "ดาวบันดาล" แปลโดย เขมรินทร์ พงษ์สุวรรณ ค่ะ และดูเหมือนมีทำเป็นภาพยนตร์ด้วยค่ะ ชื่อเดียวกับหนังสือเลย

เนื่องด้วยเป็นนิยายรักโรแมนติก ของวัยรุ่นที่เป็นมะเร็ง ดังนั้นพล็อตเรื่องจึงไม่มีอะไรหวือหวาเหมือนนิยายแนวทริลเลอร์ที่ชอบอ่าน แต่เนื้อหากับลึกซึ้งและมีข้อชวนให้คิดแม้หลังจากอ่านหนังสือจบไปแล้วก็ตามค่ะ

นิยายเล่มนี้เป็นเรื่องของ Hazel เธออายุแค่ 16 ปีเองค่ะ แต่ป่วยเป็นมะเร็งที่เกี่ยวกับไทรอยด์ ตรวจพบมะเร็งตอนเธออายุ 12 และสู้กับมันเรื่อยมา โชคดีที่ยาตัวใหม่ที่เพิ่งค้นพบ ซื่งปกติยาตัวนี้ไม่ค่อยได้ผลกับคนอื่น กลับได้ผลในเคสของเธอ จึงทำให้ Hazel รอดชีวิตมาได้ แต่ผลกระทบจากโรคร้ายคือปอดของเธอทำงานได้ไม่ดีค่ะ ทำให้เธอต้องใช้สายออกซิเจนตลอดเวลา ไปไหนมาไหนก็ต้องพกออกซิเจนไปด้วย

หนังสือบอกเล่าความรู้สึกในมุมของ Hazel ค่ะ เขียนเหมือนเป็นบันทึกของเธอ ... Hazel ได้เจอกับ Augustus ในคลาสกลุ่มบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Augustus เป็นเพื่อนของ Isaac ซึ่งเป็นเพื่อนกับ Hazel อีกที) 

Augustus ป่วยเป็นมะเร็งกระดูก ทำให้ต้องตัดขาไปข้างหนึ่งค่ะ จบอนาคตนักบาสเกตบอลที่กำลังรุ่งในวัย 17 ส่วน Isaac เพื่อนของทั้งคู่นั้น เป็นมะเร็งตา ทำให้ต้องผ่าตัดเอาดวงตาออก กลายเป็นคนตาบอด ในวัยแค่ 17 และแถมโดนแฟนทิ้งด้วย

Hazel มีหนังสือที่ชอบอ่านอยู่เล่มหนึ่งค่ะ ชื่อ "An Imperial Affliction" เขียนโดย Peter van Houten ซึ่งเป็นหนังสือที่ประหลาดมาก เล่าเรื่องบันทึกของแอนนา (Anna) ที่ป่วยเป็นลิวคูเมีย อาศัยอยู่กับแม่ของเธอ และมีหนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์เลี้ยง แล้วก็มีชายชาวดัตช์มาจีบแม่ พร้อมสัญญาว่าจะดูแลแอนนาอย่างดี ... แต่ที่ประหลาดคือ หนังสือจบแบบดื้อๆ จบแบบยังไม่จบประโยคก็ตัดจบ คือเล่มตั้งหนา หลายร้อยหน้า แต่จู่ๆ ก็จบ ... จบเหมือนเขียนยังไม่เสร็จแล้วก็ส่งพิมพ์ซะงั้น 

ตอนจบของหนังสือ  "An Imperial Affliction"  เป็นสิ่งที่คาใจ Hazel มากเลยค่ะ เธอเดาว่า หนังสือจบแบบห้วนๆ แบบนั้นเนื่องจาก แอนนาเสียชีวิตจากโรคร้าย ...​แต่เธอก็ยังอยากรู้ชีวิตต่อไปของคนอื่นๆ ในหนังสือ เช่น หนูแฮมสเตอร์สัตว์เลี้ยงของแอนนาจะเป็นอย่างไรต่อไป? คนดัตช์ที่มาจีบแม่ของแอนนาเป็นคนรวยจริงไหม? เป็นคนดีไหม? และหลังจากแอนนาเสียชีวิตแล้ว ทั้งคู่ยังได้แต่งงานกันหรือไม่? ... มันคาใจ Hazel มาก จนกระทั่งเธอต้องเขียนจดหมายไปถาม Peter van Houten คนแต่งค่ะ แต่ไม่ว่าจดหมายกี่ฉบับที่เธอเขียน ก็ไม่ได้รับการตอบกลับมาเลย

ไม่ได้คาใจแค่ Hazel คนเดียวนะคะ หลังจาก Augustus ได้อ่าน ก็สงสัยเช่นกัน ... Augustus จึงส่งอีเมล์ติดต่อถามกับผู้ช่วยของ Peter van Houten แทนค่ะ (เพราะ Hazel ติดต่อกับนักเขียนโดยตรงแล้วไม่ได้เรื่อง เหมือนเจ้าตัวไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ) ... โชคดีคือ ผู้ช่วยของ Peter van Houten ตอบกลับ และบอกว่า เรื่องราวหลังจากการเสียชีวิตของแอนนานั้นเป็นความลับ แต่ผู้เขียนคือ Peter van Houten ยินดีจะเล่าให้ทั้งคู่ฟัง หากทั้งคู่มาพบกับเขาเป็นการส่วนตัวที่อัมสเตอร์ดัม 

อ่านมาถึงตรงนี้ สำหรับคนอ่านที่เป็นผู้ใหญ่จะรู้สึกว่ามันไร้สาระค่ะ คือมันเป็นนิยายเนอะ นิยายคืออยู่ในจินตนาการของคนเขียน จะเขียนให้เป็นอย่างไรก็ได้ ...​ทำไมทั้ง Hazel และ Augustus ถึงได้จริงจังกับเรื่องนี้ ... แนะนำว่าให้อ่านไปเรื่อยๆ ค่ะ มันลึกซึ้งกว่าแค่นิยาย...

และที่อัมสเตอร์ดัม คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ลึกซื้งจนกลายเป็นความรักของ Hazel และ Augustus ค่ะ

แต่อย่างที่เราเดาได้ตั้งแต่เริ่มอ่านล่ะค่ะ เรื่องนี้ ตัวเอกของเรื่องเป็นมะเร็งทั้งหมด ดังนั้นมันจึงต้องมีการลาจากของใครคนใดคนหนึ่ง ... แต่ผู้เขียนไม่ได้เขียนให้นิยายนี้เป็นเรื่องเศร้าค่ะ นิยายเล่มนี้กลับเป็นนิยายตลก เต็มไปด้วยทัศนคติคิดบวก

Hazel ซึ่งรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย กลับไม่ได้เศร้า หรือกลัวความตายที่อาจจะมาได้ทุกเมื่อ เธอกลับใช้ชีวิตอย่างมีพลัง ทำทุกอย่างเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป (เท่าที่สามารถทำได้) ... เธอบอกว่า ตัวเธอนั้นคือ "ผลข้างเคียง" ของการวิวัฒนาการค่ะ มะเร็งคือผลข้างเคียงของการกลายพันธุ์ 

หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนทัศนคติของคนร่างกายแข็งแรงที่มีต่อเด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งไปเลยค่ะ คนร่างกายแข็งแรงมักจะรู้สึกสงสารเด็กป่วยเหล่านี้ แต่เด็กเหล่านี้ เนื่องจากเขาโตมากับโรคร้ายไงคะ เขาเลยไม่รู้สึกว่าตัวเองน่าสงสาร เขาก็แค่ใช้ชีวิตเท่าที่ร่างกายเอื้ออำนวย เขาไม่ได้รู้สึกสงสารตัวเอง แต่พยายามใช้ชีวิตในแต่ละวัน

ชอบบทสุดท้ายซึ่งเป็นจดหมายที่ Augustus เขียนค่ะ Augustus บอกว่า หลายคนมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะสร้าง "ความหมาย" สร้างสิ่งต่างๆ เพื่อให้โลกจดจำ เช่น เป็นคนรวย เป็นคนเก่ง ... แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่พวกเขาทิ้งไว้ให้โลกก็คือรอยแผลเป็น (เหมือนหนทางที่ก้าวขึ้นสู่ความเป็นที่หนึ่ง อาจสร้างความทรงจำที่เลวร้าย หรือทำร้ายคนรอบข้างโดยไม่ตั้งใจ) ... การเป็นที่จดจำของคนหลายๆ คน เทียบไม่ได้กับการมีคนที่รักจริงเพียงไม่กี่คนหรอกค่ะ