Friday, March 8, 2024

Deep Work

 


หนังสือชื่อ  :  Deep Work

ผู้เขียน  :  Cal Newport

สำนักพิมพ์  :  Grand Central Publishing


เนื้อหาน่าสนใจค่ะ ถึงแม้สำนวนจะน่าเบื่อ และน้ำท่วมทุ่งก็ตาม แต่อ่านแล้วได้ไอเดียนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันที่ดีเลยค่ะ

ผู้เขียนบอกว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีหมุนเร็ว และเราก็เอาแต่วิ่งตามเทรนของเทคโนโลยี เพราะเรากลัวพลาดตกขบวน พลาดข่าวสารสำคัญๆ ทำให้เราติดโซเชียลมีเดีย ต้องเช็คเมล์ทุกสิบนาที ต้องดูอินเตอร์เน็ตเป็นระยะๆ ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องตอบเมล์ หรือตอบแชทให้เร็วที่สุด ต้องทวีตทุกวัน ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นว่าอินเตอร์เน็ตมาก่อกวนสมาธิของเราในการทำงานที่สร้างคุณค่าค่ะ

Deep work คือการมีสมาธิจดจ่อกับงานที่สร้างคุณค่า ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับยุคนี้ ยุคที่อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไวมาก ทักษะที่สำคัญที่ต้องมีคือ การเรียนรู้สิ่งที่ยาก ในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งสิ่งนี้จะทำไม่ได้เลยถ้าเราไม่มี deep work -- แต่อุปสรรคของ deep work คือ อินเตอร์เน็ตค่ะ เหล่าโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราพะวง ต้องคอยเช็คเป็นระยะๆ 

deep work ตรงกันข้ามกับ shallow work 

Shallow work คืองานที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า งานยุ่งๆ ที่ทำให้เหมือนยุ่ง แต่เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะ ไม่ได้เพิ่มองค์ความรู้ เช่น การตอบอีเมล์ การประจำทุกเช้า ฯลฯ -- มันคืองานที่ดูเหมือนจำเป็นต้องทำ แต่ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนแบบตอบอีเมล์ทันทีที่ได้รับ อะไรขนาดนั้น -- งานพวกนี้ เราควรจำกัดมันให้ทำโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเวลาเหลือทำงานอะไรที่เป็น deep work และได้คุณค่ามากกว่าค่ะ

บางครั้งเรามักเข้าใจผิด และวัดประสิทธิภาพของงานด้วย shallow work เช่น ถ้าเราตอบอีเมล์เร็ว แสดงว่าเราเป็นคนทำงานเร็ว กระตือรือร้น ... แต่จริงๆ แล้ว อีเมล์ที่ตอบไป ไม่มีคุณค่าอะไร 

หนังสือหนา และยืดเยื้อ แบ่งเป็นสองภาค ภาคแรก เล่าถึงความสำคัญของ Deep Work ...อ่านข้ามได้ค่ะ ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่ามันจำเป็น

ภาคที่สอง บอกถึงวิธีการฝึกทักษะ Deep Work โดยมี 4 กฎ คือ

กฎที่ 1 - Work Deeply

เริ่มด้วยวางแผนว่าเราจะทำงานอะไร ที่ไหน เป็นเวลาเท่าไร โดยทำแต่งานนั้นอย่างเดียวแบบไม่โดนขัดจังหวะ งานนั้นต้องเป็นงานที่ให้คุณค่าแก่เรา ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทั้งเป้าหมายส่วนตัว หรือเป้าหมายในสายงาน

ทำให้มันเป็นพิธีการค่ะ พิธีการทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นเป็นเรื่องสำคัญ 

เล่นใหญ่ เช่น อาจลงทุนซื้อคอร์สเรียน หรือในหนังสือยกตัวอย่างของ J.K. Rowling ที่จองห้องในโรงแรมหรูเพื่อใช้เวลาเขียนนิยายให้จบ โดยไม่โดนขัดจังหวะ ทั้งๆ บ้านของเธอก็อยู่ไม่ไกล

หนังสือได้เล่าถึงวินัย 4 อย่างที่เราควรสร้างขึ้น คือ

        1. โฟกัสในสิ่งที่สำคัญ มีเป้าหมายน้อยอย่าง และโฟกัสลงไปให้ลึกในสิ่งนั้น

         2. มีตัววัดความก้าวหน้า แนะนำให้ใช้เป็นตัววัดผลก่อนความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ร้านเบอเกอรี่มีเป้าหมายต้องการเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ตัววัดผลก่อนความสำเร็จคือจำนวนขนมตัวอย่างที่แจกลูกค้าที่มาเข้าร้าน เป็นต้น -- แบบนี้ทำให้เราสามารถวัดผลได้ทุกวันๆ ทำให้แน่ใจว่าเราไม่ได้กำลังเดินไปผิดทาง หลงทางไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้

        3. เก็บเป็น score board เหมือนเกมส์นะคะ เก็บบันทึกไว้ในที่มองเห็นได้ กระตุ้นให้เราทำตามเป้าหมายอยู่เสมอทุกวัน

        4. มีการรีวิวผลสำเร็จหรือล้มเหลวเป็นประจำ

กฎที่ 2 - Embrace Boredom

งานที่ทำ หรือสิ่งที่เรียน ถึงแม้จะรู้ดี ตระหนักดีว่ามันสำคัญกับอนาคตของตัวเองแค่ไหน แต่หลายครั้งก็มีช่วงที่เบื่อๆ ค่ะ และเมื่อเบื่อ เราก็อดไม่ได้ที่จะคลิกดูอะไรน่าสนใจในอินเตอร์เน็ต กลายเป็นอินเตอร์เน็ตคือตัวขัดจังหวะความมีสมาธิของเรา

วิธีแก้คือ ใช้วิธีพักระหว่างโฟกัสทำงาน deep work แทน เช่น ระหว่างทำงาน เราก็เขียนโพสอิตแปะหน้าคอมพ์ไว้เลย ว่าเราจะพักดูอินเตอร์เน็ตรอบต่อไปตอนกี่โมง กี่นาที วิธีนี้จะทำให้เรามีสมาธิกับงานได้ดีขึ้น 

กฎที่ 3 - Quit Social Media

มองว่าอินเตอร์เน็ตเหมือนเครื่องมือชนิดหนึ่งค่ะ เหมือนช่างไม้ต้องมีค้อนเป็นเครื่องมือ และด้วยความเชี่ยวชาญ ช่างไม้ก็เลือกว่าจะใช้ค้อนนั้นทำอะไร ...ฉันใดก็ฉันนั้น อินเตอร์เน็ตไม่ได้ไร้ประโยชน์ แต่มันคือเครื่องมือเช่นเดียวกับค้อนของช่างไม้ เราจำต้องเรียนการใช้เครื่องมืออินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์กับงานของเราค่ะ

กฎที่ 4 - Drain the shallows

งานที่จำเป็นแต่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า พยายามทำมันให้น้อยที่สุด หนังสือแนะนำให้เราทำตารางทำงานของเราในทุกนาทีที่ทำงาน เพื่อตรวจสอบดูว่าเราทำงานที่เป็น Shallow work แต่ละวันมากแค่ไหน (เราจะแปลกใจว่า วันๆ เราหมดไปกับการทำงานที่ไม่ใช่งานในหน้าที่ที่เขาจ้างเรามาเยอะแค่ไหน และเราทำงานจริงๆ ที่เป็นงานที่เราต้องทำนั้นน้อยแค่ไหนค่ะ)

พยายามกำหนดเวลาทำงาน คือหลังเวลาเลิกงานก็ไม่ควรทำงาน หรือเอางานกลับมาทำอีก แบบนี้จะบังคับเราให้ต้องบริหารเวลาให้ดียิ่งขึ้น และทำแต่งานที่จำเป็นและก่อให้เกิดคุณค่า