Thursday, December 29, 2022

Emotional Design

 


หนังสือชื่อ  :  Emotional Design

ผู้เขียน  :  Donald A. Norman

สำนักพิมพ์  :  Basic Books


เป็นหนังสือเก่าค่ะ (ฉบับที่อ่านตีพิมพ์เมื่อปี 2004) แต่หลายเรื่องในหนังสือ และแนวคิดหลักของหนังสือน่าสนใจ และยังใช้มาจนทุกวันนี้

ผู้เขียนคือ Norman เคยเป็นหัวหน้าแผนก UX ของแอปเปิ้ลค่ะ เป็นคนออกแบบผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีดีไซน์ และเป็นมิตรกับผู้ใช้ ก่อนที่วงการคอมพิวเตอร์จะมีบัญญัติคำว่า UX (User Experience) มาใช้เสียอีกค่ะ

เนื่องจากหนังสือนี้เขียนนานแล้ว ดังนั้นเนี่ย จึงผ่านการเวลาพิสูจน์ว่าสิ่งที่ Norman เขียนได้กลายเป็นความจริงในปัจจุบันนี้ค่ะ 

หนังสือเล่าเรื่องแนวคิดการออกแบบที่ใส่ "อารมณ์-emotional" ลงไปด้วย โดย emotional design แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. Visceral Level - เป็นระดับพื้นฐานของมนุษย์ การออกแบบโดยคำนึงถึงรูป รส สัมผัส ตัวอย่างเช่น ของเล่นเด็ก ที่จะออกแบบกระตุ้นในระดับนี้ ด้วยการออกแบบของเล่นให้มีสีสันสดใส ทำให้เด็กตอบสนองด้วยการอยากเล่น เป็นสัญชาติพื้นฐานเลย

2. Behavioral Level - เน้นเรื่องการใช้งาน ของที่ออกแบบมาต้องสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ที่มันสร้างมา พร้อมกันนั้นต้องคำนึงถึงการใช้งานที่เป็นมิตร นักออกแบบที่ต้องการเข้าถึงการออกแบบในระดับนี้ ต้องทำการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้ขณะใช้งาน เพราะบางครั้งผู้ใช้ใช้สิ่งนั้นจนชิน จนไม่รู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคหรือมีฟังก์ชั่นที่ไม่สะดวกต่อการใช้งานอยู่

3. Reflective Level - เป็นระดับที่ซับซ้อน บางครั้งขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมของผู้ใช้ด้วย

ผู้เขียนยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัว ตอนได้รับหมึกอินเดีย ​(india ink) เป็นของขวัญจากเพื่อน หมึกบรรจุอยู่ในแท่งชุดอย่างดี ดีไซน์สวยงาน นั่นคือความประทับใจแรก (ระดับ visceral) แล้วทันใดนั้น เขาก็คิดถึงการใช้มันตอนสมัยเรียน (ระดับ Behavioral) ซึ่งมันใช้ยากมาก มันไม่ได้ดั่งใจ และทำให้เขาต้องเสียเวลาเป็นวันๆ ในการพยายามทำให้มันออกมาในแบบที่ต้องการ เป็นความรู้สึกแบบ hate-love ทั้งรักทั้งเกลียด ซึ่งเป็นความทรงจำในระดับ reflective

ในเล่ม ผู้เขียนเขียนถึงการออกแบบที่ใส่อารมณ์ต่างๆ เข้าไป เช่น อารมณ์สนุก และมีความสุขที่ใช้ในการออกแบบเกมส์ ดนตรีและเสียงที่ใส่ในภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้ออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้มีความสุขเมื่อใช้ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการออกแบบทางคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้ต้องทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ เช่น ต้องกรอกข้อมูล ต้องคลิกตามคำสั่ง - ความร่วมมือแบบนี้ต้องมาคู่กับความไว้ใจ เป็นจิตวิทยาน่ะค่ะ ต้องมีตัวบอกว่ากระบวนการนี้ถึงขั้นไหนแล้ว เหมือนไรจะเสร็จ (เหมือนเกจวัดน้ำมัน บอกว่าน้ำมันเหลือเท่าไรในถัง) ซึ่งถ้าผู้ใช้เชื่อถือในมาตรวัดนั้น ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้น ผู้ใช้จะกล่าวโทษตัวเองที่ไม่รอบคอบ แทนที่จะโทษผลิตภัณฑ์ 

หรือในบทที่กล่าวถึงหุ่นยนต์ Norman ก็ทำนายอนาคตได้อย่างน่าสนใจทีเดียวค่ะ เพราะสิ่งที่เขาเขียนกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันนี้

นับว่าเป็นหนังสือที่ถึงแม้จะเก่า แต่อ่านแล้วได้แนวคิดดีๆ ค่ะ


Sunday, December 18, 2022

จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money)

 


หนังสือชื่อ  :  จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money)

ผู้เขียน  :  Morgan Housel

ผู้แปล. :  ธนิน รัศมีธรรมชาติ

สำนักพิมพ์  :  ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์


เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ค่ะ ควรอ่านอย่างยิ่ง แม้ส่วนตัวจะรู้สึกผิดหวัง เพราะคิดว่าจะมีเนื้อหาหนักๆ อ้างอิงงานวิจัยโน่นนี้ ... แต่เล่มนี้ไม่ใช่เลยค่ะ เนื้อหาออกแนวหนังสือ How to ซะมากกว่า ... แต่ถึงจะอย่างนั้นก็ตาม ก็นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ ควรอ่านค่ะ

การหาเงินได้ กับการใช้เงินไม่เหมือนกันค่ะ และคนรวยกับคนมั่งคั่งก็ไม่เหมือนกัน... อ่านเล่มนี้แล้วให้คิดถึงชีวิตการใช้ "เงิน" ของทั้งตัวเอง และคนใกล้ตัวค่ะ (ที่เราเห็นเขาโพสต์อวดชีวิตดี๊ดี ร๊วยรวย แล้วเราก็สงสัยว่า ทำไมเขารวยจัง แล้วเขาจะอวดไปทำไมง่ะ) ... 

หนังสือบอกเราว่า การตัดสินใจลงทุนไม่ใช่จะประสบความสำเร็จทุกครั้งไป ไม่มีการตัดสินใจที่ดีหรือการตัดสินใจที่เลวค่ะ เราตัดสินใจภายใต้กรอบข้อมูลที่เรามีอยู่ ณ ขณะนั้น เราตัดสินใจภายใต้อิทธิพลของครอบครัว หรือแม้กระทั่งสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่เราเติบโตมา ... แม้กระทั่งนักลงทุนเก่งๆ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกหุ้นที่เขาลงไปหรอกค่ะ... แต่ความสำเร็จเพียงแค่เล็กน้อยจากทั้งหมดที่เขาลงไป มันประสบความสำเร็จมากจนกลบความล้มเหลวที่ผ่านมาของเขาหมด ... แล้วเราคนนอกก็ชื่นชมเขาจากความสำเร็จ (ที่เป็นสัดส่วนน้อย แต่ยิ่งใหญ่) ของเขากัน 

หนังสือให้ความสำคัญกับการ "ออม" และการพยายามรักษาไลฟ์สไตล์ให้ต่ำกว่าที่คุณสามารถจ่ายได้ การรู้จัก "พอ" การหาความสุขกับสิ่งง่ายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายซื้อ เช่น อ่านหนังสือ นั่งเล่นกับแมว ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องมีความสุขกับการอวดรวย ซื้อรถหรูๆ แพงๆ หวังให้คนชื่นชม เราที่มีรถหรู ...แต่โปรดจำไว้ว่า ผู้คนชื่นชม "รถหรู" ไม่ใช่เจ้าของรถค่ะ เขาแทบจำไม่ได้ ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าใครคือเจ้าของรถ เขาฝันกลางวันว่าตนเองจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ "รถหรู" แบบนั้นบ้าง

หนังสือให้ความสำคัญกับการลงทุนในแบบที่ทำให้คุณนอนหลับได้อย่างสบายใจ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนตามอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เอาแบบที่เป็นตัวของตัวเองที่สุด ...และบทที่ 20 ของหนังสือ ผู้เขียนได้เขียนเล่าวิธีการลงทุนของตนเองไว้ค่ะ ซึ่งไม่ตรงกับที่ผู้เขียนแนะนำให้คนอื่นลงทุน เหตุผลเพราะค่านิยมส่วนตัว และเขารู้สึกสบายใจกับการลงทุนเช่นนี้

มันคือหนังสือที่สอนให้ใช้เงินอย่างไม่ประมาทน่ะค่ะ โดยใช้ภาษาง่ายๆ ไม่มีตัวเลขอะไรวุ่นวาย ดังนั้นใครๆ ก็อ่านได้ ... ผู้แปลก็แปลได้ดีค่ะ มีบ้างที่ใช้ประโยคเยิ่นเย้อ มีคำเชื่อมเยอะไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้แย่อะไร บางประโยคก็งงๆ ไม่เข้าใจความหมาย ... แต่โดยรวมแล้วอ่านเข้าใจดีค่ะ 

ถ้ามีเวลาน้อย ให้พลิกข้ามไปอ่านบทที่ 19 เลยค่ะ เพราะบทนั้นคือสรุปทั้งเล่มเอาไว้แล้ว ส่วนบทสุดท้ายบทที่ 20 ผู้เขียนเขียนเล่าพอร์ตการลงทุนส่วนตัวของตนเอง 

ส่วนบทส่งท้ายก็น่าสนใจค่ะ เป็นการเล่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาเศรษฐกิจอเมริกาในระดับครัวเรือนในตอนนี้ ... ตอนสงครามสิ้นสุดใหม่ๆ เศรษฐกิจอเมริกาถดถอยค่ะ ดังนั้นรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำดอกเบี้ยต่ำ กู้ยืมง่าย มีเครดิต ทำให้การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย รณรงค์ให้เกิดการบริโภคในประเทศ ซึ่งในตอนนั้นช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยคนจนไม่ได้เยอะมาก ดังนั้นทุกคนจึงเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในทางด้านวัตถุ ทุกบ้านมีรถเหมือนๆ กัน มีเครื่องซักผ้า ทีวีเหมือนๆ กัน ... แต่พอมาตอนนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนถ่างมากขึ้น แต่ค่านิยมของการมีเหมือนเพื่อนบ้านยังคงอยู่ ดังนั้นคนจนจึงยอมเป็นหนี้ เพื่อที่จะมีให้เหมือนคนรวย ...


Thursday, December 15, 2022

The Sanatorium

 


หนังสือชื่อ  :  The Sanatorium

ผู้แต่ง  :  Sarah Pearse

สำนักพิมพ์  :  Penguin Random House UK


สนุก ลุ้น วางไม่ลง อ่านจนเสียงานเสียการค่ะ ...

เรื่องเริ่มจากตัวเอกของเรื่องคือ Elin ซึ่งเป็นตำรวจอังกฤษ และอยู่ในช่วงพักฟื้นฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังคดีฆาตกรรมที่คว้าน้ำเหลว Elin และได้รับเชิญมาร่วมงานหมั้นของ Isaac น้องชายที่จะจัดที่โรงแรมบนเทือกเขาแอลป์ค่ะ 

Elin กับ Isaac น้องชายไม่ค่อยสนิทกันนัก ไม่ค่อยได้ติดต่อกัน ในหนังสือจะค่อยๆ เริ่มเล่าเหตุตะขิดตะขวงใจที่ทำให้ Elin ทำใจสนิทกับน้องชายไม่ลง ...​อันสืบเนื่องมาจากการตายของ Sam น้องชายคนเล็กของทั้งคู่ ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ยังคาใจของ Elin อยู่ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น (เธออยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่ผลกระทบของการตายของน้องชายรุนแรงมาก ทำให้เธอช็อค และจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย จำได้แค่เพียงเสี้ยวๆ ไม่ปะติดปะต่อ และ Elin อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น)

โรงแรมที่จัดงานหมั้น เป็นที่ทำงานของ Laure คู่หมั้นของ Isaac ด้วยค่ะ โรงแรมนี้อดีตเคยเป็นโรงพยาบาลสถานพักฟื้นผู้ป่วยวัณโรค (สมัยก่อนคนเชื่อว่าผู้ป่วยวัณโรคปอดไม่แข็งแรง จำเป็นต้องได้รับอากาศบริสุทธิ์) ... ต่อมามีการคิดค้นยาปฏิชีวนะ วัณโรคก็กลายเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยยา โรงพยาบาลก็ปิดตัวไป และทิ้งร้าง จนต่อมาปี 2015 ทายาทเจ้าของโรงพยาบาลก็คิดโปรเจคแปลงโรงพยาบาลให้กลายเป็นโรงแรมแทน ... ซึ่งโปรเจคนี้ได้รับการต่อต้านจากคนท้องถิ่น แถมมีเหตุสถาปนิกของโครงการหายตัวไปอย่างลึกลับด้วย ทำให้โครงการล่าช้าไปเป็นปี ...​แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดโรงแรมก็ได้รับการบูรณะสมบูรณ์ และเปิดให้แขกเข้าพักได้ตั้งแต่ปี 2018 (เหตุการณ์ในหนังสือเกิดขึ้นตอนปี 2020 ค่ะ สองปีหลังจากโรงแรมเปิดตัว)

ความวุ่นวายเริ่มขึ้นเมื่อ Laure คู่หมั้นของ Isaac หายตัวไป และพร้อมกันนั้นก็มีข่าวว่าพายุหิมะกำลังมา ทำให้ทุกคนในโรงแรมต้องอพยพออกในวันรุ่งขึ้น ...​รุ่งขึ้น ขณะที่ทุกคนกำลังเตรียมตัวขึ้นรถบัสอพยพออกไป กลับมีคนเจอศพของพนักงานโรงแรม

กลายเป็นว่าตอนนี้ มีศพ 1 และมีคนหายอีก 1 ... แล้วพายุหิมะก็มา พัดทางออกจากโรงแรม ทำให้แขกบางส่วนที่เหลืออยู่และพนักงานติดอยู่ในโรงแรม ตำรวจจะเข้ามาก็ไม่ได้ ส่วนคนในจะอพยพหนีไปก็ไม่ได้ กลายเป็นติดกับโดยสมบูรณ์

Elin เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคนเดียวในที่นั่นค่ะ ที่มีประสบการณ์กับเรื่องฆาตกรรมแบบนี้ เธอจึงได้รับการร้องขอจากตำรวจสวิตเซอร์แลนด์ให้ช่วยรวบรวมหลักฐานเบื้องต้นก่อน เพราะเรื่องอย่างนี้ ยิ่งเร็วยิ่งดี 

และดูเหมือนฆาตกรจะยังอยู่ในโรงแรมด้วย! 

นอกจาก Elin ต้องสืบสวนหาฆาตกรแข่งกับเวลาแล้ว Elin กำลังโดนใครบางคนปองร้ายด้วยค่ะ ...เป็นฆาตกร? หรือใครอีกคน? ... นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับน้องชายก็เปราะบางอย่างยิ่ง

หนังสือเขียนสนุกมากค่ะ มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง บางครั้งเราเริ่มเดาได้ว่าใครคือฆาตกร ...​แต่เราก็ยังไม่รู้แรงจูงใจอยู่ดี ... แต่สุดท้ายคนที่เราเดาว่าคือฆาตกร ...ก็ไม่ใช่ซะงั้น 

สนุกค่ะ ผู้เขียนเล่นกับปมความหลังของ Elin ทั้งเรื่องคดีที่เธอทำพลาด เรื่องความตายของน้องชาย พร้อมๆ กับการสืบสวนหาตัวฆาตกร ประวัติในอดีตของสถานพักฟื้นแห่งนี้ ที่ดูจะมากกว่าการเป็นแค่สถานที่ตากอากาศธรรมดา?

Thursday, December 8, 2022

Trick Mirror

 


หนังสือชื่อ  :  Trick Mirror

ผู้แต่ง  :  Jia Tolentino

สำนักพิมพ์  :  HarperCollins Publishers


เล่มนี้เป็นบทความค่ะ ถือว่าอ่านได้เรื่อยๆ เพลินๆ ค่ะ ... เป็นบทความที่ผู้เขียนพรรณาความคิดเห็นของตนเอง และเล่าประสบการณ์ของตนเองประกอบในเรื่องต่างๆ บางเรื่องเราคนอ่านก็เห็นด้วย บางเรื่องก็เข้าไม่ถึง เพราะผู้เขียนเน้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอเมริกา คนอ่านไม่ได้อยู่อเมริกา ดังนั้น บุคคลสำคัญ หรือข่าวที่ผู้เขียนยกมา หลายคนเราก็ไม่เคยรู้จัก เพราะไม่ได้ตามข่าวภายในประเทศอเมริกาละเอียดขนาดนั้น

หนังสือแบ่งเป็นบทความเรื่องต่างๆ ค่ะ ได้แก่

The I in the internet

 ผู้เขียนเขียนเล่าว่า การมีอยู่ของอินเตอร์เน็ตทำให้สังคมเปลี่ยนไป คือ เราใส่ "ตัวตน" ของเราลงไปในข่าวสารเรื่องราวที่เรารับรู้ 

ผู้เขียนยกตัวอย่างเช่น นักเขียนพยายามเรียกร้องความสนใจของคนอ่านด้วยการเขียนในประเด็นร้อนแรง ประเด็นที่หลายคนไม่เห็นด้วย ทำให้คนอ่านเกลียด และวิพากวิจารณ์งานเขียน ... ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานเขียนที่ประสบความสำเร็จ เพราะมีคนอ่านเยอะ ยิ่งเกลียดยิ่งได้แสง

ความหมายของความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความหมายนี้ก็เปลี่ยนไปเมื่อมีอินเตอร์เน็ต กลายเป็นว่ามีการใส่ "ตัวตน" ความเป็นตัวเองลงไปในที่ระดับของความสามัคคี 

โซเชียลมีเดียถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานที่ว่า ทุกใดๆ จะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อมันมีความสำคัญสำหรับเรา (หรือมีความเชื่อมโยงกับเรา) ... มี "ตัวตน" ของเราเข้ามาในอินเตอร์เน็ต... นี่คือเหตุผลที่ เราให้รู้สึกเชื่อมโยงกับกระรอกที่ตายอยู่หน้าบ้านเรา มากกว่าเด็กที่กำลังอดตายที่แอฟริกา ... เพราะเด็กที่แอฟริกามันไกลไงคะ เรารู้ข่าว เราเศร้าก็จริง แต่กระรอกหน้าบ้านเราเห็นไง มันมาตายอยู่หน้าบ้านเราง่ะ 

เหตุที่ทำให้คน "ติด" โซเชียลมีเดีย เพราะสิ่งที่เราเสพย์จากมันคือส่ิงที่ไม่สมบูรณ์ และไม่น่าพอใจค่ะ ดังนั้นเราจึงไถหน้าจอไปเรื่อยๆเพื่อให้รู้สึกพอใจ...เป็นเรื่องทางจิตวิทยา


Reality TV Me

บทความตอนนี้ ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ที่เธอเคยร่วมเป็นผู้เล่นในรายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อ "Girls v. Boys: Puerto Rico" ค่ะ ตอนนั้นเธออายุ 16 ... ผู้เขียนเขียนในรูปของการย้อนรำลึกเหตุการณ์ในวัยเยาว์ 

ในรายการก็มีผู้ร่วมแข่งขันทั้งหมด 8 คน เป็นวัยรุ่นชายหญิงอย่างละ 4 คน แล้วก็ทำกิจกรรมแข่งขัน มีโหวตออก อารมณ์นั้น 

เนื่องจากเป็นมุมมองของผู้ใหญ่ที่มองย้อนดูตัวเองสมัยวัยรุ่น ดังนั้นจึงให้ความรู้สึกหนึ่งค่ะ ก็อ่านได้เพลินๆ ดี ... เพียงแต่รู้สึกว่า ส่ิงที่พวกเธอทำในฐานะกลุ่มกระทำกับผู้เข้าร่วมแข่งขันคนหนึ่งที่อ่อนแอที่สุด ไม่น่ารักเลยค่ะ แต่มันคือชีวิตวัยรุ่นในเกมส์ที่ต้องแข่งขันกัน ใครดีใครได้


Always Be Optimizing

บทความเกี่ยวกับการพยายามรักษาความงาม ด้วยการออกกำลังกาย และการรักษาภาพลักษณ์ในอุดมคติของผู้หญิงน่ะค่ะ เรื่องแฟชั่นการแต่งกายของผู้หญิง ... คือผู้เขียนทำงานเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารเกี่ยวกับเฟมินิสต์ ดังนั้นเธอจึงสอดแทรกความรู้สึกของผู้หญิงเฟมินิสต์ลงไปในงานเขียนของเธอแทบทุกบท (จนบางครั้งรู้สึกว่ามากเกินไป)


Pure Heroines

เรื่องของ "นางเอก" ในหนังสือต่างๆ ... นางเอกในที่นี้คือตัวละครหญิงที่มีบทบาทสำคัญในหนังสือค่ะ 

ผู้เขียนยกตัวอย่าง ชื่อของนางเอก และบทบาทของเธอในหนังสือ ซึ่งบทบาทของนางเอกก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้เขียนยกตัวอย่างหนังสือตั้งแต่สมัยเก่า มาจนถึงยุคปัจจุบัน ... เกือบทุกเล่มไม่เคยอ่านค่ะ ไม่ใช่แนวที่ชอบอ่าน 


Ecstasy

ยาอี ค่ะ ผู้เขียนเขียนเล่าประสบการณ์พื้นเพของตนเองที่มาจากครอบครัวผู้อพยพ พ่อแม่เป็นคนฟิลิปปินส์ ย้ายมาอยู่แคนาดา แล้วก็ย้ายอีกครั้งมาอยู่อเมริกา ครอบครัวเป็นครอบครัวเคร่งศาสนา ตัวเธอตอนเด็กๆ ก็ตามพ่อแม่ไปโบสถ์ จนกระทั่งเป็นวัยรุ่นจึงได้ห่างศาสนา

ผู้เขียน เขียนในแนวเชื่อมโยงประสบการณ์ความรู้สึกปิติยินดีในทางศาสนา เข้ากับความรู้สึกปิติในขณะเสพยา (คือตามคำบรรยาย มันดูจะเป็นประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกัน) 

อ่านได้เพลินๆ ค่ะ ตัวเองไม่มีประสบการณ์ร่วม เนื่องจากไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ จึงเข้าไม่ถึงถึงความรู้สึกของการสัมผัสพระเจ้าในทางศาสนาคริสต์ และไม่เคยใช้ยาเสพติดแบบนั้น ก็เลยเข้าไม่ถึงประสบการณ์นั้นเช่นกัน 


The Story of a Generation in Seven Scams

เขียนเล่าเรื่องสแกมเมอร์ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ตั้งแต่ 

The Crash - ที่นำพามาสู่วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกา และนายธนาคารที่ก่อเรื่อง กลับไม่ได้รับโทษใดๆ เพราะกฎหมายสหรัฐไม่มีบัญญัติโทษไว้ 

The Student Debt Disaster - หนี้เพื่อการศึกษา ในอเมริกาเป็นหนี้ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศค่ะ (รองจากหนี้บ้าน) เหตุผลเพราะค่าเล่าเรียนแพงขึ้นๆ แต่ในทางกลับกัน ความมั่นคงในหน้าที่การงานกลับลดลง คือเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องยากมากที่คนทำงานจะได้รับสัญญาว่าจ้างระยะยาว ส่วนใหญ่ได้แค่สัญญาระยะสั้นกันเท่านั้น 

The Social Media Scam - เรื่องของเฟสบุ๊ก และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ต้องการข้อมูลของผู้ใช้ เพื่อต่อยอดในการโฆษณา หรือหวังผลด้านอื่นๆ 

The Girlbosses - Girlbosses เป็นชื่อแบรนด์ที่มีคนก่อตั้งเป็นผู้หญิงค่ะ โฆษณาตัวเองในภาพลักษณ์เฟมินิสต์ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของผู้หญิง ...​แต่จริงๆ แล้วเป็นแค่คำโฆษณา ความจริงคือสภาพการทำงานลูกจ้างแย่มาก และไม่ได้ปกป้องสิทธิของลูกจ้างหญิงแต่อย่างใด เป็นแค่การขายความเป็นเฟมินิสต์เท่านั้น 

The Really Obvious Ones - เกี่ยวกับบริษัทสตาร์จอัพที่ขายสินค้านวัตกรรมต่างๆ ซึ่งบางอย่างก็ก่ำกึ่งว่าไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ดีกว่าอย่างที่โฆษณาแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่เหมือนการหลอกเอาเงินนักลงทุนเท่านั้น เช่น Juicero บริษัททำเครื่องบีบถุงบรรจุน้ำผลไม้ สุดท้ายก็ถูกแฉว่า บีบกับมือยังได้เร็วกว่าเลย พอโดนแฉ ก็เลยไม่มีใครลงทุนเพิ่ม ก็ขาดสภาพคล่อง คนที่ลงทุนไปแล้วก็เลยสูญเงิน หรือกรณีของ Elizabeth Holmes เจ้าของบริษัท Theranos ที่โฆษณาว่าสามารถตรวจสุขภาพทุกโรคได้ด้วยเลือดเพียงหยดเดียว ... ซึ่งบริษัทของเธอประสบความสำเร็จมาก มีคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุนมากมาย ... แต่สุดท้ายก็ถูกแฉว่าทั้งหมดเป็นเรื่องหลอกลวง

The Disruptors - บริษัทเทคโนโลยีที่กล่าวขานว่าเป็นผู้ disruptors อย่างเช่น Uber, Amazon, หรือ Airbnb ซึ่งบริษัทเหล่านี้ทำเงินได้มหาศาล แต่สภาพการทำงานของพนักงานของบริษัทกลับย่ำแย่ ถูกเอาเปรียบ

The Election - ผู้เขียนเขียนถึงการเลือกตั้งของอเมริกา ที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีค่ะ ผู้เขียนไม่ชอบทรัมป์ และมองว่าประวัติที่ผ่านมา พิสูจน์ว่าทรัมป์ก็คือสแกมเมอร์คนหนึ่ง


We Come from Old Virginia

ผู้เขียนเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย และในปี 2014 มีบทความเขียนเรื่องแก๊งส์ข่มขืนข่มขืนนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัย ... ต่อมาพิสูจน์ได้ว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง แหล่งข่าวไม่น่าเชื่อถือค่ะ แหล่งข่าวไม่สามารถพิสูจน์ความจริง หรือแสดงหลักฐานให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง

ผู้เขียนเชื่อมโยงให้เห็นว่า ทำไมคนจึงเชื่อบทความนี้ในตอนแรก ... เหตุก็เพราะมหาวิทยาลัยฯ นี้ มีประวัติของการใช้ความรุนแรงทางเพศของเพศชายเกิดขึ้นในอดีต ... ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย Thomas Jefferson ที่มีความสัมพันธ์กับทาส ตั้งแต่ทาสคนนั้นอายุแค่ 14 ในขณะที่เขาอายุ 44 (อายุห่างกันตั้ง 30 ปี!) ... คือมันมีข่าวความรุนแรงทางเพศ การมีเซ็กส์โดยไม่ยินยอมในมหาวิทยาลัยนี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีต รวมถึงความจริงที่ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นัก จากสถิติที่แทบไม่มีนักศึกษาถูกลงโทษอย่างรุนแรงจากพฤติกรรมนี้เลย

ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง ของการถูกล่วงละเมิด แต่ไม่กล้าที่จะบอกใคร หรือพยายามจะบอกแล้ว แต่ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ... ในสมัยที่เธอเป็นอาสาสมัครที่ประเทศคีร์กีซสถาน เธอโดนเจ้าของบ้านผู้ชายลวนลาม ... 

... ในบทความ เราไม่เห็นด้วยกับเธอ ในตอนที่เธอมองว่า ผู้หญิงที่โดนล่วงละเมิด เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว กลับเกิดความกลัวและเปลี่ยนใจ ซึ่งทำให้คำในการของเธอไม่น่าเชื่อถือ ... เรากลับมองว่า "คนที่รับเรื่อง" ต่างหาก คนรับเรื่องไม่อยากมีเรื่องต่างหาก ในขณะที่ทุกอย่างกำลังดำเนินไปอย่างสงบสุข จู่ๆ มีเรื่องการล่วงละเมิด บางกรณีคนที่กระทำเป็นคนน่าเชื่อถือ คนรับเรื่องจึงไม่อยากทำลายบรรยากาศความสงบสุขนั้น จึงพยายามพูด หรือแสดงที่ท่าไม่เชื่อถือคำพูดของคนโดนกระทำ ทำให้คนถูกกระทำเสียความมั่นใจ และทุกอย่าง (ในภายนอก) ก็จะกลับมาดูสงบสุขอีกครั้ง


The Cult of the Difficult Woman

เขียนเรื่องผู้หญิงที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่คนส่วนใหญ่ "รักที่จะเกลียด" เช่น Kim Kardashian, Britney Spears เป็นต้น ผู้หญิงเหล่านี้ถูกมองว่า แตกต่าง น่าหมั่นไส้ มั่นเกินไป สวยเกินไป รวยเกินไป ฯลฯ แต่พอพวกเธอจบชีวิตลง เช่น Amy Winehouse, Whitney Houston พอถึงตอนนั้น คนกลับพูดถึงแต่เรื่องดีๆ ของเธอ กลายเป็นผู้หญิงอาภัพ น่าเห็นใจ ... (ทำไมไม่พูดถึงเธอดีๆ เมื่อตอนที่เธอยังมีชีวิตอยู่?)

ผู้เขียนเขียนถึงผู้หญิงของทรัมป์ ผู้หญิงที่ทำงานให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ การที่พวกเธอก้าวขึ้นมาในตำแหน่ง การที่เธอใช้ค่านิยมเฟมินิสต์ให้เป็นประโยชน์กับตัวเธอ ... แต่พวกเธอไม่ใช่เฟมินิสต์ และไม่ได้สนใจเรื่องนี้ด้วย 


I Thee Dread

ผู้เขียนเล่าเรื่องความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่อยากแต่งงาน และมองว่าการแต่งงานเป็นเรื่องสิ้นเปลืองอย่างเปล่าประโยชน์ เชื่อมโยงที่มาของค่านิยมของการแต่งงานที่เจ้าสาวต้องใส่ชุดสีขาว ฟูฟ่อง และแหวนเพชรคือแหวนหมั้นแทนรักนิรันดร์

คือเรามองว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของเธอน่ะ มันควรจะแยกกันระหว่าง "การจัดการแต่งงาน" ที่ผู้เขียนมองว่าสิ้นเปลือง กับ "การจดทะเบียนสมรสทางกฎหมาย" ซึ่งผู้เขียนมองว่าในอดีตมันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ... แต่ปัจจุบัน อเมริกาอนุญาตให้สมรสเพศเดียวกันได้แล้ว และสามารถยังคงใช้นามสกุลเดิมได้ด้วย ดังนั้นการจดทะเบียนสมรสจึงไม่ใช่เรื่องของความไม่เท่าเทียมกันอีกต่อไป .. ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนไม่สามารถเขียนโน้มน้าวให้คนอ่านรู้สึกได้ว่า ทำไมเธอจึงต่อต้านมัน

ประเด็นหนึ่งที่เธอไม่เขียนถึงเลยคือ "การเป็นแม่" คือเธอต่อต้านการแต่งงาน มีแฟน แต่ไม่ต้องการแต่งงานกับแฟน ซึ่งอาจแปลว่า เธอไม่ต้องการเป็นแม่ ... แต่เธอไม่เขียนถึงเลย จริงๆ แล้วประเด็นนี้ต่างหากที่น่าสนใจ