Thursday, March 14, 2013

ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ







หนังสือชื่อ : ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

ผู้แต่ง : ติช นัท ฮันท์

ผู้แปล : พระประชา ปสนนธมโม

สำนักพิมพ์ : มูลนิธีโกมลคีมทอง



     หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้คิดจะขายค่ะ เพราะพิจารณาแล้วคงไม่คุ้ม เนื่องจากราคาจากหน้าปกก็ 95 บาทเองค่ะ ถึงลดราคาให้ 50% แต่บวกค่าขนส่งแล้ว ก็จะเกินราคาหนังสือเอา แต่อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ เพราะบางครั้ง ถึงโลกจะก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไปเพียงใด แต่ทางด้านจิตใจ เราก็ยังจำเป็นที่จะต้องมี "ศาสนา" เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวค่ะ

       สิ่งแรกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ไม่เคร่งศาสนาอย่างออยก็คือ หนังสือเล่มนี้ เหมาะกันทุกศาสนา อยากเรียกว่าเป็นหนังสือปรัชญาซะมากกว่า ผู้แต่งคือ พระอาจารย์ติช นัท ฮันท์ ท่านเป็นพระชาวเวียดนาม หากแต่ลี้ภัยสงครามไปอยู่ที่ฝรั่งเศส แต่ก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่ชื่อ "หมู่บ้านพลัม" ที่นั่น เพื่อเผยแพร่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา 

      ในหนังสือเล่มนี้ ได้บอกกับเราว่า "เวลา ณ ปัจจุบัน คือเวลาที่สำคัญที่สุด" เนื่องจาก อดีต ได้ผ่านไปแล้ว จงไม่ใช่ของเราอีกต่อไป และ อนาคต ก็ยังมาไม่ถึง จึงยังไม่เป็นของเรา เราทุกคนจึงมีเพียงปัจจุบันขณะเท่านั้น ที่เป็นของเรา เราจึงต้องอยู่กับปัจจุบัน ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเรา ณ ขณะนี้ให้ดีที่สุด และนี่คือวิธีที่เรียกว่า "การฝึกสติ"

      เราควรมีสติ รู้ตัวทุกๆ การกระทำของเรา หนังสือได้ยกตัวอย่าง "การล้างจาน เพื่อล้างจาน" คือการล้างจานอย่างมีสติ อย่างรับรู้ว่าขณะเรากำลังล้างจาน ทำการล้างจานให้ดีที่สุด ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าจานสกปรกที่อยู่ตรงหน้าเรา หรือการหาความสงบจากชิ้นส้ม คือการที่เมื่อเรากินอาหาร หากแต่ใจเรากลับไม่ได้ลิ้มรสอาหารที่อยู่ตักเข้าปากนั้น ใจเรากลับคิดไปถึงสิ่งที่เราจะทำหลังจากทานอาหารเสร็จ หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งนั่นน่าเสียดาย ทำให้เราพลาดความรู้สึกมหัศจรรย์ในรสชาดของอาหาร ดื่มด่ำความสุขของการทานส้มชิันหวานชิ้นนั้น

      ผู้แต่งบอกว่า ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในทุกวัน ทุกนาที คือ ปาฏิหาริย์ของการเกิดมา รับรู้ และมีสติ ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ยิ่ง การรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เมื่อโกรธ ก็รู้ว่าฉันกำลังโกรธ (เขาไม่ได้บอกให้ระงับโกรธ หรือเสแสร้งว่าไม่ได้โกรธนะคะ) แต่ให้พิจารณาอารมณ์ขุ่นมัวของตัวเองนั่น แล้วเดี๋ยวอารมณ์นั่นก็จะหายไปเองแหละค่ะ (คงเหมือนเวลาเราอ่านเรื่องลึกลับ เรื่องผี แล้วเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบาย อารมณ์กลัวก็จะหายไปเอง)

      ในหนังสือมีนิทานด้วยค่ะ เรื่อง "คำตอบอัศจรรย์ 3 ประการ" เรื่องมีอยู่ว่า จักรพรรดิองค์หนึ่งต้องการรู้คำตอบของ 3 ปัญหา โดยเชื่อว่า หาได้คำตอบแล้ว จะทำให้พระองค์เป็นคนที่ทำอะไรไม่เคยผิดพลาดเลย คำถาม 3 ข้อนี้คือ
        1. เวลาไหนเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทำกิจแต่ละอย่าง
        2. ใครคือคนสำคัญที่สุดที่ควรทำงานด้วย
        3. อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรทำตลอดเวลา

      มีคนพยายามหาคำตอบแก่พระจักรพรรดิ์หลายคนเลย แต่คำตอบก็ยังไม่ถูกใจ พระจักรพรรดิ์ทราบมาว่า มีพระฤาษีตนหนึ่งอาศัยอยู่บนเขา อาจรู้คำตอบต่อปัญหาทั้งสามนี้ พระองค์จึงเสด็จไปหา ตามลำพัง โดยให้องครักษ์รออยู่ที่ตีนเขา ส่วนตัวพระองค์เองก็ปลอมตัวเป็นชาวนาเข้าไป

      เมื่อถึงที่พักของพระฤาษี พระองค์พบว่า ฤาษีผู้ชรากำลังขุดดินอยู่ จึงอาสาเข้าไปช่วย พร้อมทั้งถามคำถามทั้งสามข้อนั่นไปด้วย หากแต่ฤาษีก็ไม่ตอบ พระจักรพรรดิ์จึงต้องขุดดินต่อจนบ่ายคล้อย และขณะที่จะถามคำถามอีกครั้งนั้นเอง มีชายคนหนึ่งถูกแทง วิ่งเตลิดมา และล้มหมดสติลง 

      พระจักรพรรดิ์จึงต้องทำการปฐมพยาบาลชายผู้นั่น และคอยเฝ้าไข้ชายผู้นั่นตลอดทั้งคืน เมื่อชายผู้นั่น ตื่นขึ้นมาในเช้าวันรุ่งขึ้น ก็สารภาพต่อพระจักรพรรดิ์ว่า จริงๆ แล้วเขาตั้งใจที่จะมาลอบสังหารพระองค์ เพื่อแก้แค้นให้พี่ชาย ที่ถูกฆ่าตายในสงคราม หากแต่ถูกองครักษ์ของพระจักรพรรดิ์พบเข้า และถูกแทง จนหนีมา จนเจอพระจักรพรรดิ์ ผู้ช่วยชีวิตตน จึงขอประทานอภัยโทษ พระจักรพรรดิ์ก็ดีใจ ที่ศัตรูกลับมาเป็นมิตร จึงให้อภัย

       เมื่อพระจักรพรรดิ์จะเสด็จกลับ จึงถามคำถามสำคัญสามข้อนี้ กับฤาษีเป็นครั้งสุดท้าย ฤาษีก็ตอบว่า ท่านได้รับคำตอบทั้งหมดแล้วนี่

         1. เวลาที่เหมาะในการทำกิจแต่ละอย่าง คือ เวลาในช่วงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวเท่านั้นที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

         2. คนที่สำคัญที่สุด ที่ควรทำงานด้วย คือ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา คนที่เรากำลังติดต่ออยู่ เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะมีโอกาสได้ติดต่อกับเขาอีกหรือไม่

       3. สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรทำตลอดเวลา คือ ภารกิจการทำให้คนที่อยู่กับเราขณะนั้นมีความสุข เพราะนั่นเป็นภารกิจอย่างเดียวของชีวิต!!!


       สนใจหนังสือเล่มนี้ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปนะคะ (งานสัปดาห์หนังสือ น่าจะมีลดราคา) หรือสั่งซื้อที่ book@komol.com ค่ะ




      

No comments:

Post a Comment