Saturday, October 19, 2019

The Seagull






หนังสือชื่อ  :  The Seagull

ผู้แต่ง  :  Ann Cleeves

สำนักพิมพ์  :  Minotaur Books


สืบเนื่องจากเป็นแฟนซีรี่ย์แนวนักสืบสืบสวนสอบสวนทางโทรทัศน์เรื่อง "Vera" ค่ะ ก็เลยค้นเจอว่า ซีรี่ย์ทางทีวีเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือของนักเขียนชื่อ Ann Cleeves ค่ะ เลยทำให้ต้องหาหนังสือมาอ่าน -- ปรากฎว่า หนังสือกับละครเป็นคนละเรื่องเลยค่ะ คือเนื้อหารายละเอียดไม่เหมือนกันเลย 

Vera Stanhope เป็นชื่อของนักสืบในชุดนี้ค่ะ เป็นตำรวจประจำสถานี Northumberland ประเทศอังกฤษค่ะ เป็นผู้หญิงอายุเยอะแล้ว น่าจะ 50+ ปีขึ้นไป โสด รูปร่างสูงใหญ่ น้ำหนักเกินด้วยค่ะ แต่ใจดี และมีความสามารถในการพูดกล่อมให้ผู้คนให้ความร่วมมือในการสืบสวน

งานสืบสวนของนักสืบ Vera เล่มนี้ต่างจากคดีอื่นๆ ค่ะ -- เรื่องมันเริ่มจาก อดีตตำรวจ John Brace ซึ่งตอนนี้ติดคุกอยู่ในข้อหาจ้างวานฆ่า ได้ติดต่อนักสืบคนเก่งของเรา เพื่อจะบอกที่ซ่อนศพของ Robbie Marshall (ซึ่ง Robbie Marshall นี่ก็เป็นเพื่อนสนิทกับ John Brace นั่นเอง แต่ Robbie หายตัวไปเมื่อ 20 ปีก่อนค่ะ) -- John Brace บอกว่าเขาไม่ได้ฆ่า Robbie ค่ะ เขาแค่เป็นคนไปเจอศพ และอำพรางศพ เขาไม่รู้ว่าใครฆ่า แต่ที่เขาต้องอำพรางศพเพราะ ถ้าตำรวจรู้ว่า Robbie ตาย และทำการสืบสวน เรื่องคอรัปชั่นที่เขากับ Robbie ร่วมกันทำ จะแดงขึ้น และตอนนั้นเขาเป็นตำรวจใหญ่ John Brace อาจเด้ง หรือหลุดจากงานได้

John Brace สารภาพและบอกที่ซ่อนศพของเพื่อนแก่ตำรวจ โดยมีเงื่อนไขค่ะ เขาต้องการให้ Vera ไปช่วยดูลูกสาวและหลานๆ ให้หน่อย -- John Brace มีลูกสาวชื่อ Patty ซึ่งเป็นลูกนอกสมรส เกิดจากคู่นอนที่เป็นโสเภณีและติดเฮโรอีน 

John Brace เนี่ยเป็นเพื่อนกับพ่อของ Vera ค่ะ เป็นหนึ่งใน gang of four (แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อของ Vera กับตัว Vera นั่นไม่ค่อยดีนัก และพ่อของ Vera ก็ตายไปนานแล้วค่ะ)  

Gang of Four เนี่ยตามชื่อเลยค่ะ มีสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 4 คน คือ พ่อของ Vera, John Brace, Robbie Marshall และ ชายลึกลับคนหนึ่ง ที่ทุกคนในสมาชิกเรียกว่า The Prof ค่ะ

เรื่องก็จะดำเนินไปประมาณนี้ค่ะ ครึ่งเล่มก็จะเป็นประมาณการเจรจาระหว่าง Vera กับ John Brace การที่ Vera พยายามขุดคดีการหายตัวไปของ Robbie หรือ Vera ไปคุยกับ Patty ตามควมต้องการของ John Brace -- จนกระทั่งในที่สุด John Brace ก็บอกที่ซ่อนศพค่ะ

แต่ปรากฎว่า เมื่อตำรวจไปหาศพตามที่ John Brace บอก -- ตำรวจกลับเจอโครงกระดูก 2 ศพ!!! ไม่ใช่ศพเดียวอย่างที่ John Brace บอก -- งั้นอีกศพคือใคร หรือจะเป็นแม่ของ Patty??? -- มาถึงตรงนี้ John Brace ไม่ให้คว่ามร่วมมือในการสอบสวนแล้วค่ะ -- Vera ต้องสืบหาความจริงให้ได้ว่า โครงกระดูกของผู้หญิงอีกคนนั้นคือใคร

ระหว่างนั้นก็มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น ผู้ตายคืออดีตสามีของ Patty นั่นเอง -- ในการสืบสวนดูเหมือน ผู้ตายทั้งสามคนจะมีชีวิตโยงใยกันด้วยผับที่ชื่อ The seagull ค่ะ -- ผับนี้โดนไฟไหม้ไป และทิ้งร้างไว้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน -- แต่ตอนนี้เจ้าของผับกลับมาใหม่อีกครั้ง และมีโครงการจะรื้อฟื้นอสังหาริมทรัพย์บริเวณนั้นใหม่หมด

ดูเหมือนอดีตจะตามมาหลอกหลอน การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน โยงใยอย่างไรกับการฆาตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น?  โครงกระดูกของหญิงสาวอีกคนคือใคร? ทำไมจู่ๆ John Brace ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นพ่อที่ห่วงลูก จนสารภาพสิ่งที่ทำไปเมื่อ 20 ปีก่อน?  (ทั้งๆ ที่ Patty คือคนที่ John Brace ไม่รับเป็นพ่อ และ Pattyโตมาด้วยพ่อแม่บุญธรรม) เจ้าของผับเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไรกับคนตายทั้ง 3 คนนี้? The prof ผู้ลึกลับคือใคร? เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมนี่หรือไม่? และแม่ของ Patty ตายไปแล้ว หรือว่ายังมีชีวิตอยู่?

หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่สนุกแบบอ่านได้เรื่อยๆ น่ะค่ะ ปมคดีฆาตกรรมก็ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย คดีที่เกิดขึ้นก็ดูเหมือนเป็นคดีอาชญากรรมที่ตำรวจเจอกันในชีวิตจริง ที่เราอ่านเจอในข่าวกัน ไม่ได้พิศดารเหมือนหนังสือนิยายนักสืบคนอื่นๆ

Thursday, October 10, 2019

Ultralearning




หนังสือชื่อ  :  Ultralearning

ผู้แต่ง  :  Scott H. Young

สำนักพิมพ์  :  Thorsons


กดซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านจาก iBook ของ apple ค่ะ ไม่ได้เป็นหนังสือกระดาษอย่างที่ปกติเคยอ่าน ซื้อมาเพราะโดนป้ายยาจากบทความรีวิวในเฟสบุ๊กของคนที่เคยอ่านก่อนหน้านี้ค่ะ

ต้องบอกไว้ก่อนนะคะ นี่เป็นหนังสือแนว "เรียนรู้ที่จะเรียน" คือเป็นแนวเรื่องการศึกษาน่ะค่ะ ซึ่งไม่ใช่หนังสือแนวที่ปกติออยหยิบมาอ่าน ถือว่าเล่มนี้เป็นเล่มแรกเลยค่ะ

ในหนังสือบอกว่า ผู้แต่ง Scott H. Young เนี่ยเป็นคนที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ออนไลน์ ของมหาวิทยาลัย MIT ด้วยตัวเองค่ะ เขาเรียนหลักสูตรที่นักศึกษาต้องใช้เวลาเรียนในชั้นเรียน 4 ปี สำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 12 เดือน !!! -- นอกจากนี้เขายังพูดได้หลายภาษา ทั้งสเปน จีน โปรตุเกส เกาหลี โดยทั้งหมดนี้เขาศึกษาด้วยตัวเองค่ะ!  -- จึงนับได้ว่าเขาเป็นผู้รู้จริงในหลักการการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง อย่างเข้มข้น และเห็นผลในเวลาอันรวดเร็วค่ะ

ทำไมการเรียนรู้ด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ -- ก็เพราะเราอยู่ในยุคที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตค่ะ คือถ้าเป็นสมัยก่อนยุคพ่อแม่ของเรา เรียนจบก็ทำงาน เอาจากที่เรียนมาทำงาน ชีวิตเรียบง่ายค่ะ .... แต่มาปัจจุบันนี้ อะไรๆ ก็เร็วขึ้น สิ่งที่เรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย บางทีก็ไม่เพียงพอที่จะได้งานทำด้วยซ้ำไปค่ะ หรือบางครั้ง ทำงานไปแล้ว ด้วยหน้าที่การงานก็บังคับให้เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่เช่นนั้น เราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทำงานแทนคนได้แทบทุกอย่างแล้ว -- คือ ถ้าเราไม่เรียนรู้วิทยาการใหม่ด้วยตัวเองให้เร็ว เราก็จะตกรถไฟ และต้องทำงานที่เป็นงานใช้แรงงานแทน ช่องว่างระหว่างงานใช้สมอง กับงานใช้แรงงาน เริ่มกว้างขึ้นทุกทีๆ ค่ะ

หนังสือมีอยู่ด้วยกัน 14 บทค่ะ ...ขอบอกว่า 2 บทแรก น้ำท่วมทุ่งเลยค่ะ ผู้เขียนใช้สองบทแรกในการบรรยายถึงความสำคัญของ Ultralearning -- น่าจะเป็นเพราะว่า สองบทแรกของหนังสือ คือสองบทที่เป็น sample ให้คนที่จะซื้อหน้งสือแบบออนไลน์ กดมาทดลองอ่านดูก่อนน่ะค่ะ ดังนั้นจึงทำให้ผู้เขียนใช้พลังอย่างมากในการโน้มน้าวให้เราเห็นความสำคัญของ Ultralearning นี้


Ultralearning คือ กลยุทธ์ ที่ใช้สำหรับการปรับทักษะและความรู้สำหรับตนเองแบบโดยตรงและเข้มข้น

ผู้เขียนเน้นย้ำค่ะว่า Ultralearning เนี่ยเป็น "กลยุทธ์" แปลว่า มันต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอให้เหมาะกับสถานการณ์ หรือสไตล์ชีวิตของคนๆ นั้น ในช่วงเวลานั้นๆ -- คือมันไม่มีกฎตายตัวว่าต้องเรียนแบบนี้แบบนั้น ซึ่งตรงนี้เนี่ยแหละค่ะ ทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านยาก เนื่องจากมันคลุมๆ เครือๆ -- นอกจากนี้การเรียนแต่ละอย่าง วิธีการเรียนก็ต่างกันไปตามลักษณะวิชา และความต้องการของผู้เรียนอีกด้วย

ผู้เขียนบอกว่า Ultralearning เนี่ยมีหลักอยู่ 9 ประการค่ะ ได้แก่
    1. Metalearning : First draw a map 
    คือก่อนจะเริ่มเรียน ก็ค้นหาก่อนค่ะ ทำการวิจัยศึกษากันนิดหนึ่งก่อนที่จะกระโจนเข้าเรียนอะไร แล้วพบว่ามันไม่ใช่อย่างที่ต้องการ ถึงตอนนั้นก็เสียเวลาไปปล่อยๆ -- ผู้เขียนบอกว่า ให้ถามตัวเองค่ะ ว่า ทำไมจึงอยากเก่งในเรื่องนี้ (Why?) อะไรบ้างที่จำต้องรู้เพื่อให้เก่งในเรื่องนี้ (What?) และต้องทำอย่างไร ต้องมีคอร์สเรียนออนไลน์ หนังสือ ฯลฯ (How?) -- และหลังจากทำการหาข้อมูลในตอนเริ่มต้นแล้ว ก็มิใช่จบแต่เพียงเท่านี้นะคะ เราควรใช้เวลา 10% ของการเรียนมารีวิว metalearning อีกครั้งบ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่หลงทางไปจากเป้าหมายของเรา และวิธีการเรียนของเรานั้น ยังใช้ได้สำหรับเรา ยังทำให้เราบรรลุเป้าหมายอยู่

    2. Focus : Sharpen your knife
    บทนี้ว่าด้วยเรื่องการตั้งสมาธิค่ะ การฝึกให้ตัวเองมีใจจดจ่อกับเรื่องที่ทำ ในยุคที่มีอะไรๆ มาขัดจังหวะได้ง่ายเหลือเกิน --  บทนี้ชอบตรงที่ผู้เขียนบอกว่า ปกติเราจะตระหนักรู้ตัวเราเองดีค่ะเวลาที่เราอยู่ในอารมณ์ผลัดวันประกันพรุ่งอยู่ คือการเรียนรุ้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่งานที่สนุกไงค่ะ มันเต็มไปด้วยความผิดหวัง น่าเบื่อ รู้สึกว่าตัวเองโง่ ไม่เก่ง หลายๆ รอบเลย -- ดังนั้นวิธีแก้คือ ลองตั้งเวลาว่าจะเรียนสัก 5 นาทีแล้วค่อยไปทำอย่างอื่น (ปกติเราไม่ค่อยจะเบื่อเรื่องไหนภายใน 5 นาทีหรอกค่ะ) จากนั้นค่อยขยับเป็น 25 นาที (เรียกวิธีนี้ว่า pomodoro technique ค่ะ) และค่อยเพิ่มไปเรื่อยๆ

    3. Directness : Go straight ahead
    ง่ายๆ ค่ะ อยากเก่งเรื่องไหนก็ให้ฝึกเรื่องนั้นไปเลย อยากเก่งภาษาเพื่อใช้ในการสนทนา ก็ให้ฝึกการสนทนาในภาษานั้น ไม่ต้องเสียเวลาฝึกไวยากรณ์ หรือฝึกเขียนอยู่ -- บทนี้เห็นด้วยกับตอนที่ผู้เขียนเล่าถึงปัญหาของการศึกษาค่ะ คือ เรียนเยอะแต่พอเจอปัญหาในชีวิตจริง กลับแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่รู้จักหรือจำรูปแบบปัญหาที่เรียน มาเทียบกับปัญหาในชีวิตจริง -- วิธีแก้คือ เรียนแบบ project-based learning ค่ะ คือให้สร้างโปรเจคขึ้นมาควบคู่กับเรื่องที่เรียน ซึ่งจะฝึกให้เรารู้จักการแก้ปัญหาในหน้างานจริง และพยายามรายล้อมตัวเองด้วยสิ่งแวดล้อมที่เราจะเรียน เช่น ผู้เขียนตอนอยากเก่งภาษาต่างประเทศ ก็ไปท่องเที่ยวในประเทศที่ใช้ภาษานั้นๆ และฝึกพูดแต่ภาษาถิ่นกับทุกๆคน โดยไม่ใช้ภาษาอังกฤษเลย
    4. Drill :  Attach your weakest point
    สิ่งที่เราต้องการเรียน มันจะมีหัวข้อย่อยลงมาที่เราจะต้องเรียน พยายามหาจุดที่เราอ่อนอยู่ และให้ความสำคัญแก้ไขจุดอ่อนนั้น -- พอมาถึงตอนนี้ ชักเห็นแล้วค่ะ ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือปลุกใจให้ความหวัง ปลุกพลัง อะไรแบบนั้น -- แต่เป็นหนังสือที่มองโลกในแง่ของความเป็นจริง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องสนุกค่ะ การต้องมาค้นหาจุดอ่อนของตนเอง และพยายามแก้ไข บางทีก็ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกผิดหวังว่าตนเองเป็นคนไม่เก่งได้

    5. Retrieval : Test to learn
     การทำแบบทดสอบ ยิ่งเรารู้สึกว่าเรายังไม่พร้อม เรายิ่งเรียนรู้ได้มากค่ะ -- ปกติเวลาเราจะสอบ หรือจะทดลองทำโปรเจคอะไรใหม่ๆ เรามักจะพยายามศึกษาหาความรู้ รอจนกว่า เราจะรู้สึกว่า "พร้อม" จึงจะค่อยลงมือทำ -- ผู้เขียนบอกว่า วิธีนี้ไม่ดีค่ะ ถ้าจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำเลยค่ะ ทำทั้งๆ ที่รู้สึกว่ายังไม่พร้อมนั่นแหละ วิธีนี้จะช่วยให้เราจำ และเรียนรู้ได้มากขึ้นค่ะ

    6. Feedback  : Don't dodge the punches
     feedback หรือคำวิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญค่ะ feedback นี้อาจได้มาจากผลการสอบ หรือคำวิจารณ์ของผู้ชมทั่วไป หรือผู้รู้ -- feedback ไม่ใช่สิ่งน่าพิสมัยนักค่ะ ยิ่งถ้านั่นคือสิ่งที่เราทำตอนที่เรารู้สึกว่ายัง "ไม่พร้อม" อีกด้วย .. แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ผู้เขียนบอกให้เราระวัง คืออย่า โอเว่อร์รีแอค หรือตอบสนองมากเกินไปกับ feedback ที่ได้รับ (feedback ที่ดีควรจะจำเพาะในเรื่องโปรเจคหรือตัวงานค่ะ ไม่ใช่ลามมาถึงคนทำโปรเจค และควรจะให้ข้อมูลที่เพียงพอว่าดีหรือไม่ดีต้องส่วนไหน) รวมถึงต้องสมดุลให้ดีระหว่าง feedback ทั้งบวกและลบ

    7. Retention : Don't fill a leaky bucket
     บทนี้ว่าด้วยเรื่องจำอย่างไรไม่ให้ลืมค่ะ เพราะเรื่องที่เราจะเรียนมีมาก บางคร้้งก็เรียนได้หน้าลืมหลัง เวลาผ่านไป จบโปรเจคก็ลืมเรื่องที่เรียน

    8. Intuition : Dig deep before building up
     คือเราควรจะเชียวชาญและรู้จริงในแต่ละหัวข้อย่อยที่เราเรียน เหมือนพื้นฐานแน่น จะไปต่อก็แน่นน่ะค่ะ วิธีที่จะทำให้พื้นฐานของเราแน่น คือ การตั้งคำถามค่ะ ถามกับตัวเองในเรื่องที่เรียน คำถามโง่ๆ ก็ได้ค่ะ ก็ถามตัวเองเนอะ และก็อธิบายคำตอบกับตัวเอง ถาม-ตอบกับตัวเองนั่นแหละค่ะ ถ้าตอบไม่ได้ แสดงว่ายังรู้ไม่แน่น ก็กับไปศึกษาเพิ่มเติม -- บางครั้ง เราก็หลงตัวเองค่ะ คือเราคิดว่าเรารู้เรื่องนี้ดีแล้ว แต่พอเจอคำถามไป หรือพอให้อธิบายเรื่องที่เรียนมานี้ ให้กับคนที่ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย เรากลับไม่สามารถอธิบายได้ นั่นแสดงว่าเรายังรู้ไม่จริงค่ะ

    9. Experimentation : Explore outside your comfort zone
     ถึงเวลาเอาสิ่งที่เรียนมา มาสร้างความแตกต่างแล้วค่ะ -- ในบทนี้ยกตัวอย่างจิตกรชื่อดัง แวน โก๊ะห์ ผู้ซึ่งฝึกหัดการวาดภาพเอาตอนที่อายุมากแล้ว ชายผู้ซึ่งล้มเหลวในการเป็นพระนักบวชอย่างบิดา -- แวน โก๊ะห์ ฝึกวาดภาพตามแนวนิยมสมัยนั้น เรียนรู้หลายๆ เทคนิค ฝึกฝนอย่างหนัก และสุดท้าย เขาก็พัฒนาเทคนิคการวาดภาพของเขาขึ้นมาเองค่ะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างไม่เหมือนใคร -- ในบทนี้ ผู้เขียนเล่าถึงเทคนิคในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ค่ะ - (ส่วนตัวแล้ว เนื่องจากอยู่เนเธอร์แลนด์ และบ้านอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านแวน โก๊ะห์ ที่นักท่องเที่ยวชอบมาปั่นจักรยานเยี่ยมชมกัน อยากจะแย้งผู้เขียนจับใจว่า แต่..แวน โก๊ะห์ตายอย่างยากจนนะ คือการทดลองสิ่งใหม่ๆ ถ้าสังคม ณ ขนาดนั้นยังไม่พร้อมที่จะรับ ผลลัพธ์มันก็ออกมาไม่สวยนา) 

หลังจากนั้นในหนังสือ อีกสองบทที่เหลือ ก็กล่าวถึง การนำ ultralearning มาปรับใช้กับตัวเองค่ะ กับโปรเจคที่ตัวเองต้องการจะเรียน และอีกบทก็กล่าวถึงการนำ ultralearning มาใช้กับลูก เพื่อฝึกให้เขามีนิสัยในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง (หรือจะนำมาใช้กับตัวเองในการกระตุ้นให้ยังคงเรียนอยู่ต่อไปก็ได้นะคะ)

สรุปคือ การเรียนรู้วิชาอะไรก็ตามด้วยตนเอง โดยไม่ไปโรงเรียน เข้าเรียนตามระบบการศึกษาปกติ เป็นเรื่องที่ต้องใช้วินัยอย่างมากค่ะ และต้องฝึกให้เป็นนิสัย -- หนังสือเล่มนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีค่ะ อ่านแล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของเรา และเรื่องที่เราจะเรียนรู้ด้วยตนเอง

จัดว่าเป็นหนังสือน่าอ่าน และมีประโยชน์เล่มหนึ่งเลยค่ะ ส่วนตัวเห็นว่า สไตล์การเขียนไม่ค่อยจะสุดๆ คือสไดล์การเขียน อ่านแล้ว ไม่รู้สึกฮึกเหิม ปลุกใจแบบหนังสือให้กำลังใจ แต่ครั้นจะเป็นวิชาการด้านการศึกษาก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ผู้เขียนเขียนแบบรายละเอียดบรรยายเยอะเกินไป ทำให้จับประเด็นสำคัญในแต่ละหัวข้อลำบาก -- ช่วงบทแรกๆ รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่น่าเบื่อมากค่ะ แต่พอทนอ่านไปได้สักครึ่งเล่ม ก็เริ่มได้เรียนรู้ เริ่มเห็นไอเดียที่จะนำสิ่งที่อ่านมาปรับใช้กับตัวเองค่ะ ... แต่อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกนะคะ การวิจารณ์ครั้งนี้อาจมีความไม่ถูกต้อง เนื่องจากเพิ่งอ่านหนังสือแนวการเรียน การศึกษาเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก (ก่อนหน้านี้เคยลงทะเบียนเรียนคอร์สออนไลน์เรื่อง learn how to learn อันโด่งดังไป แต่ไม่สามารถทนเรียนจนจบได้ค่ะ คือไม่ใช่แนวอย่างแรง)