หนังสือชื่อ : Major Pettigrew's Last Stand
ผู้แต่ง : Helen Simonson
สำนักพิมพ์ : Bloomsbury Publishing Plc
เป็นหนังสือที่สวยค่ะ ใช้คำบรรยายสวยมาก เรียกว่าเป็นวรรณกรรมได้เลยล่ะค่ะ เหมาะสำหรับคนที่สนใจฝึกภาษาอังกฤษ บรรยายถึงความงามของหมู่บ้านในเมือง Sussex อังกฤษ
เป็นเรื่องของผู้พัน Ernest Pettigrew ผู้มีอายุ 68 ปี ค่ะ The Last stand ในหนังสือแปลว่า เป็นคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ... จริงๆ ไม่เชิงหรอกค่ะ ผู้พันยังมีน้องสะใภ้ที่นับว่าเป็นผู้สูงอายุในครอบครัวอยู่ แต่คือผู้พันไม่ค่อยชอบน้องสะใภ้คนนี้เท่าไร แกเลยไม่สะดวกใจจะนับญาติ
เรื่องมันเริ่มจากผู้พันได้รับโทรศัพท์ว่า น้องชายเสียชีวิตเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว เรียกว่าเสียชีวิตกะทันหันเลยค่ะ
ผู้พันอาศัยอยู่ในบ้านคนเดียวค่ะ ภรรยาของผู้พัน Nancy ก็เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลูกชาย Roger ก็มีชีวิตของเขาเอง และกำลังจะหมั้นกับสาวอเมริกัน ...ดูเหมือนลูกชายจะอยู่ห่างไกลออกไปทุกที หมายถึงทัศนคติของกันและกันนะคะ เหมือนผู้พันไม่ค่อยเข้าใจลูกชายนักแล้ว
ผู้พันเหงาค่ะ รู้สึกโดดเดี่ยว ท่ามกลางเพื่อนฝูงมากมาย ... คือดูเหมือนผู้พันไม่น่าจะเหงา เพราะมีกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน ...แต่ผู้พันเหงา และรู้สึกดึงดูดใจต่อเสน่ห์ของ Mrs. Ali หญิงหม้ายเจ้าของร้านขายของชำในหมู่บ้าน
Mrs. Ali อายุ 58 เป็นคนอังกฤษ เชื้อสายปากีสถานค่ะ ให้นึกภาพผู้หญิงเอเชีย ที่อยู่ภายในกรอบของอิสลามนะคะ
ทั้งคู่ดึงดูดเข้าหากัน เมื่อ Mrs. Ali บังเอิญไปอยู่เป็นเพื่อนตอนผู้พันรับข่าวร้ายการตายของน้องชาย ...ทั้งคู่มีความคล้ายกันตรงที่ต่างมีความทรงจำที่ดีของคู่ชีวิตที่เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ยังรักและคิดถึงเสมอ
ในขณะที่ความรักของผู้พันกับ Mrs. Ali กำลังพัฒนา ... เรื่องภายนอกก็มีคำถามค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปืนแฝดเชอร์ชิล มรดกตกทอดจากพ่อของผู้พัน ที่ก่อนพ่อเสียชีวิต พ่อสั่งเสียให้แบ่งปืนแฝดออกให้ลูกคนละกระบอก และบอกว่าถ้าลูกคนใดคนหนึ่งจากไป ให้นำปืนนี้มารวมกัน และส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ...แต่ดูเหมือนน้องชายของผู้พันจะไม่ใส่ใจกับคำสั่งเสียของพ่อนี้ รวมถึงมีนักลงทุนที่สนใจจะซื้อปืนนี้ด้วย และลูกๆ ก็อยากขายเอาเงินค่ะ
ส่วน Mrs. Ali นั้น จริงๆ เธอเป็นผู้หญิงฉลาดนะคะ แต่ด้วยวัฒนธรรมมุสลิมที่กดผู้หญิงให้อยู่ภายใต้ผู้ชาย กรอบของวัฒนธรรมที่ Mrs. Ali ไม่กล้าก้าวข้าม (จริงๆ เธอเป็นคนดื้อเงียบในแบบของเธอ ถ้าสิ่งนั้นขัดกับหลักการของเธอ แต่โดยรวม เธอยังติดอยู่ในกรอบวัฒนธรรมศาสนาค่ะ)
คือจริงๆ Mrs. Ali เกิดที่อังกฤษ ไม่เคยไปปากีสถานด้วยซ้ำ พ่อเป็นนักคณิตศาสตร์ ตอนพ่อตายในขณะที่เธอยังเด็ก พ่อตายปุ๊บ ลุงเข้ามาจัดการ ขายหนังสือของพ่อทิ้งทันที โดยที่แม่ได้แต่ร้องไห้และทำอะไรไม่ได้ ... เธอประสบการณ์ชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชายมาตั้งแต่เด็ก ...อ่านไปก็ไม่เข้าใจว่าเธอไม่คิดจะลุกขึ้นมาป้องกันไม่ให้เกิดอะไรแบบนี้ซ้ำรอยบ้างเหรอ ... พอสามีเธอตาย ... เธอก็อยู่ภายใต้ความกดดันของญาติฝั่งสามี ที่จะให้เธอยกร้านให้หลานชาย และให้ตัวเธอกลับไปเลี้ยงหลานที่บ้านญาติแทน
ส่วนผู้พันนั้น เป็นพวกถือเกียรติยิ่งชีพ เพราะติดคำสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อเรื่องปืน ดังนั้นผู้พันจึงคิดแต่จะเอาปืนจากน้องชายมารวมกับของตน ตามที่ได้สัญญาไว้ ... ผู้พันมีนิสัยเหมือนคนแก่ที่ยึดมั่นในความคิดตัวเองน่ะค่ะ แต่สุภาพ ถูกอบรมความเป็นสุภาพบุรุษมาอย่างดี และไม่ชอบยุ่งเรื่องคนอื่น ไม่พยายามเจ้ากี้เจ้าการสั่งสอนชีวิตคนอื่น
จริงๆ หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องโรแมนติกของผู้สูงวัยค่ะ แต่เนื่องจากเป็นผู้สูงวัยไง ชีวิตจึงไม่ได้มีแค่คนสองคนรักกันอีกต่อไป แต่มีปัจจัยเรื่องสังคม ลูกหลาน ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
หนังสือเขียนเล่าในเฉพาะส่วนความคิด สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้พันเท่านั้นค่ะ เสน่ห์ของมันคือเราต้องเดาว่าคนอื่นๆ คิดอย่างไร เรารู้แค่ว่าผู้พันคิดอย่างไรเท่านั้นค่ะ
ความยากของหนังสือเล่มนี้ นอกจากคำศัพท์ ซึ่งสวย หลากหลายแล้ว คือบุคลิกของคนอังกฤษค่ะ คือคนอังกฤษปากคม ชอบประชด หรือพูดอ้อมๆ อย่างสุภาพ แล้วคนไทย (ที่อยู่กับคนดัตช์) อย่างเรา ก็ไม่เข้าใจความหมายระหว่างบรรทัดนั้นค่ะ
สิ่งที่ไม่ชอบคือ คนอังกฤษเหยียดชาติพันธุ์ ปกติบางคนเหยียดชาติพันธุ์เนื่องจากเรายังไม่รู้จักกันดีพอ เมื่อเขาได้เรียนรู้ที่จะรู้จักกัน สนิทกันแล้ว เขาก็อาจจะกลับมาชอบกันได้ ...แต่คนอังกฤษ (อย่างน้อยในหนังสือ) เหยียดชาติพันธุ์ด้วยพื้นฐานที่ว่า ตัวเองดีกว่าอีกฝ่าย เหยียดแบบเหยียดค่ะ ไม่ใช่เหยียดแบบระแวง ... แล้วเป็นการเหยียดอย่างสุภาพด้วย ซึ่งมันทำให้อีกฝ่ายรู้สึกต่ำต้อยกว่า แต่ทำอะไรไม่ได้ ...สิ่งที่ดีคือ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยไม่ตัดสินค่ะ คือเขียนให้รู้สึกว่า คนที่เหยียดก็เหยียดเป็นปกติของเขา คือเขาคิดอย่างนั้นของเขาจริงๆ และเขาก็ไม่คิดว่าเขาผิดด้วย ... นั่นทำให้หนังสือรู้สึกเรียลมากยิ่งขึ้นค่ะ