หนังสือชื่อ : Snow
ผู้แต่ง : John Banville
สำนักพิมพ์ : Faber & Faber Limited
เป็นนิยายแนวสอบสวนสืบสวน/ทริลเลอร์แนวพีเรียด ผู้เขียนบรรยายสิ่งต่างๆ ได้สวยงาม เห็นภาพ แต่สิ่งที่บรรยายนั้นไม่ได้ช่วยอะไรในการสืบสวน หรือไม่เกี่ยวกับเรื่องคดีเลย บรรยายน้ำท่วมทุ่งมาก ...ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเลยอ่านสนุก เพราะได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ ในการบรรยายคุณลักษณะสิ่งต่างๆ แต่ถ้าเอามาแปลเป็นภาษาไทย นิยายเล่มนี้คงไม่เวิร์กค่ะ คนอ่านจะรู้สึกทันทีว่าใช้คำฟุ่มเฟือย บรรยายสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ไม่ได้เป็นส่ิงที่เป็นสาระกับคดีเลย
เรื่องเกิดขึ้นที่ Ballyglass House ประเทศไอร์แลนด์ ในปี 1957 -- ในสมัยนั้นผู้คนยังศรัทธากับศาสนาอย่างมาก และที่ไอร์แลนด์ก็จะมีความขัดแย้ง (ไม่ถึงกับทะเลาะกัน แต่อารมณ์ประมาณพวกฉันพวกเธอ) ระหว่างสองนิยาย แคทอธิก กับโปรเตสแตนต์
เกิดคดีบาทหลวงแคทอธิกถูกแทงตายที่ห้องสมุดของคฤหาสน์ Ballyglass House -- ทางเมืองหลวงจึงส่งนักสืบ Strafford พร้อมผู้ช่วย Jenkins ให้มาสืบสวนเรื่องนี้
บาทหลวงตายเป็นเรื่องใหญ่ค่ะ แถมถูกฆาตกรรมด้วย ดังนั้นในช่วงแรกทางการจึงพยายามปิดข่าว และบิดเบือนว่า บาทหลวงเสียชีวิตจากการอุบัติเหตุตกบันได แต่จริงๆ แล้วคือถูกแทงที่คอ และถูกลูกอัณฑะถูกตัดหายไป
พอหนังสือบอกว่าบาทหลวงตาย และจากสภาพศพ ...เราคนอ่านก็เดาเรื่องได้แล้วค่ะว่าจะเป็นไปในทางไหน ...ซึ่งก็ไม่ผิดจากที่เดาเลยค่ะ
บ้านที่บาทหลวงไปพักดูแปลกๆ บาทหลวงเป็นพระในนิกายแคทอธิก ในขณะที่ครอบครัว Osborne เป็นโปรเตสแตนต์? บาทหลวงมาพักที่นี่บ่อยมาก (มากเกินไป) -- ศพมีการจัดท่าทางใหม่ เนื่องจากแม่บ้านผู้เคร่งศาสนารับไม่ได้ที่จะให้บาทหลวงนอนตายอนาถ เลยทำความสะอาดเช็ดคราบเลือดออกซะเอี่ยม รวมถึงจัดมือของศพให้ประสานกัน ให้ดูเหมือนเป็นการตายอย่างสงบ (ทั้งหมดนี้ทำก่อนที่ตำรวจจะมาถึง) -- เห็นได้ชัดว่าทั้งบ้านไม่มีร่องรอยการงัดแงะ ฆาตกรจึงควรเป็นใครสักคนในบ้านหลังนั้น ในคืนเกิดเหตุนั้นแหละ
ในคืนเกิดเหตุ บ้านมีบาทหลวง, Geoffrey Osborne เจ้าของบ้าน, Sylvia ภรรยายังสาวของเจ้าของบ้าน และเป็นผู้พบศพ, Dominic และ Lettie ลูกชายและลูกสาว - และในป่าในอาณาเขตของคฤหาสน์มีเด็กเลี้ยงม้า Fonsey พักอยู่คนเดียวในคาราวาน
อ่านไปก็รำคาญไป ที่หนังสือเน้นเรื่อง "ชื่อ" มากกว่าหาว่าใครคือฆาตกร มีการย้ำชื่อของ Strafford มากเกินพอดี (แบบเขียนให้ตัวละครอื่นๆ จำชื่อ หรือออกเสียงชื่อของ Strafford ผิด แล้วเขาก็ต้องแก้ให้ถูกตลอด) ต่อมา Jenkins หายตัวไป ก็เขียนให้ตัวละครคนอื่นจำชื่อไม่ได้ และ Strafford ต้องย้ำชื่อของ Jenkins ซ้ำๆ ในหลายๆ ฉาก
คือถ้าจะอ่านเอาสนุก เอาบรรยากาศการสืบสวนหาฆาตกร เล่มนี้คงไม่เหมาะค่ะ เพราะตัวนักสืบ Strafford ก็เหมือนไม่ได้จริงจังกับหน้าที่ ถามอ้อมไปอ้อมมา ...คือมีคนตาย แถมเป็นคนสำคัญ มันควรจะตั้งคำถามกับพยานแวดล้อมให้จริงจังกว่านี้ป่ะ นี่ถามเหมือนนินทากันระหว่างกินมื้อเที่ยง
สุดท้ายที่จับคนร้าย (คนที่คิดว่าเป็นคนร้าย) ก็เพราะ Strafford โชคดีบังเอิญเห็นว่าใครเป็นคนขับรถตู้คันที่ต่อมาพบขโมยมา
หนังสือเขียนเรื่อยๆ บรรยายเยอะ สิ่งที่บรรยายก็ไม่ได้ย้อนมาเฉลยหรือไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคดีเลย เช่น
1. อาปิชอบ กับผู้ช่วยของเขา ตอนแรกก็นึกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร ปรากฎว่าไม่เกี่ยว (ดูเหมือนอาปิชอบรู้เรื่องลับๆ ของผู้ตาย)
2. Sylvia ผู้อ่อนแอ และหมอที่ดูใส่ใจเธอเป็นพิเศษ เกิดอะไรขึ้นกับเธอ ดูไม่ชอบมาพากล แต่ Strafford ก็ไม่ได้สนใจสืบสวนต่อ และปล่อยเธอไว้อย่างนั้น
3. Peggy พนักงานในโรงแรมที่ Strafford พัก คือความสัมพันธ์ไม่เกี่ยวกับคดีเลย แต่ก็ใส่มา เพื่อ???
4. คดีจบ จริงๆ ไม่เคลียร์หรอก และตัว Strafford ก็รู้ดี แต่หาตัวคนที่เหมาะสมเป็นคนร้ายได้ คือคนที่มีความสำคัญต่อสังคมน้อยที่สุด เจ้านายพอใจ คดีปิด Strafford ก็กลับเมืองหลวง
5. นิสัยส่วนตัวและอารมณ์ของ Strafford คือเป็นคนแบบถ้าได้อยู่ใกล้ใครก็รักคนนั้น แต่ฉาบฉวย ไม่อยากเอาตัวเองกระโจนเข้าไปในวงรักๆ ใคร่ๆ ถนัดที่จะเฝ้าดูอยู่รอบนอก
คือเป็นหนังสือสอบสวนที่จบไม่เคลียร์ว่าใครคือฆาตกร ตัว Strafford เองก็ไม่แคร์ที่จะเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ -- ก็ถือเป็นตอนจบที่มีเสน่ห์แบบหนึ่งนะคะ ดูเรียลดี เหมือนชีวิตจริงแหละ บางคดีก็ให้มันจบแบบนี้แหละดีแล้ว เสียหายแก่สังคมน้อยสุด ไอ้ที่เกิดขึ้นไปแล้วก็กลับไปแก้ไม่ได้แล้ว ชีวิตเดินหน้าต่อไป
No comments:
Post a Comment