หนังสือชื่อ : The Dutch and their Delta
Living below sea level
ผู้แต่ง : Jacob Vossestein
สำนักพิมพ์ : XPat Media
เนื่องด้วยออยย้ายมาอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ค่ะ จึงอยากรู้จักประเทศนี้ให้มากขึ้น เลยหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน อ่านแล้วไม่ผิดหวังค่ะ รู้จักประเทศนี้ และเข้าใจคนดัตช์มากขึ้นจริงๆ
คำกล่าวที่ว่า "God created the earth, but the Dutch crated the Netherlands" ไม่ไกลเกินความจริงเลยค่ะ ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะรู้สึกเคารพ และทึ่งในความพยายามของมนุษย์มากเลยทีเดียว
สมัยเด็กๆ เคยอ่านข่าวเจอว่า เนเธอร์แลนด์มีจังหวัดเพิ่มขึ้นอีกจังหวัดหนึ่ง จากการสร้างขึ้นมาด้วยฝีมือมนุษย์ ตอนนั้นก็คิดว่าเขาถมทะเล เขาขยะ ดิน สิ่งต่างๆ มาถมทะเล เกิดเป็นแผ่นดินใหม่ ...แต่ ความจริงแล้วไม่ใช่เลยค่ะ ดัตช์ไม่มีถมทะเล ผืนดินที่ได้มา เกิดจากการสูบน้ำออกทั้งสิ้น!!!
ถมทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สูบน้ำทะเลออกเพื่อสร้างผืนดิน นี่ยากกว่าค่ะ การสูบน้ำออกทำให้ได้ผืนดินใหม่ในพื้นที่ที่มากกว่าการถม และพื้นดินใหม่ก็สามารถใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรมได้ด้วย
ทราบหรือไม่คะ ว่าสนามบินของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เรียกว่า สนามบิน Schiphol ในปี 1860 คงคงเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่เลย ต่อมามีการสูบน้ำออก กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ก่อนเปลี่ยนมาเป็นสนามบินอย่างเช่นทุกวันนี้ ชื่อ Schiphol ก็มาจาก ship (เรือ) + hole (รู) สืบเนื่องจากสมัยที่พื้นที่นี้ยังเป็นทะเลสาบนั้น เรือหลายลำอับปางลงในทะเลสาบนี้ค่ะ
รันเวย์ในสนามบิน Schiphol อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 4-5 เมตร และถ้าเราออกจากสนามบิน มาขึ้นรถไฟ สถานีรถไฟ Schiphol อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 10 เมตร !
สรุปจากที่อ่านนะคะ อยากจะเเบ่งการต่อสู้ของคนดัตช์กับน้ำ ออกเป็นสองส่วนค่ะ คือ
1) การสร้างพื้นดิน
เช่นการเอาน้ำออกจากทะเลสาบ Haarlemmermeer ซึ่งตอนนี้ส่วนหนึ่งของทะเลสาบนั้นคือ สนามบิน Schiphol ค่ะ
หรือ อีกงานที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การเอาน้ำออกจาก Zuyder zee เเล้วสร้างจังหวัด Flevoland โครงการนี้มีแนวคิดมานานแล้วค่ะ แต่สมัยนั้นยังมีแต่กังหันลม แรงกังหันลมไม่เพียงพอที่จะสูบน้ำออกได้ จนกระทั่งมีวิทยาการสมัยใหม่เกิดขึ้น มีการประดิษฐ์ปั๊มสูบน้ำ โครงการนี้จึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง ภายใต้การผลักดันของ Cornelis Lely รัฐมนตรีกระทรวงน้ำ
การทำงานคร่าวๆ เริ่มจาก สร้างเขื่อน Afsluidijk ชะลอ และกั้นน้ำ (เขื่อนนี้ยาวถึง 70 กิโลเมตรเชียวค่ะ) จากนั้นก็สูบน้ำออก พื้นที่ที่สูบน้ำออกจนเป็นพื้นดินเรียกว่า polder โดยแต่ละ polder จะมีคลองระบายน้ำอยู่รอบๆ ดินที่อยู่ใต้น้ำทะเลมานานก็จะเป็นดินเค็ม ดัตช์ก็ปลูกพืชจำพวกกก เพื่อลดความเค็มในดิน เมื่อดินหมดเค็มแล้ว ก็ทำการตัดกก กกที่ตัดนั้น สามารถน้ำไปใช้ในการสร้างฝายกั้นน้ำต่อได้ค่ะ ดินที่ได้ก็จะเหมาะกับการทำการเกษตรแล้ว
ปัจจุบัน Afsluidijk มีถนนอยู่บนคันกั้นน้ำนี้ เราสามารถขับรถไปได้ตลอดเเนวเขื่อนเลยค่ะ แต่ยังไม่มีทางรถไฟนะคะ คาดว่าในอนาคตอาจจะมี
2) การป้องกันน้ำท่วม
แรงบันดาลใจสำคัญมาจากเหตุการณ์เมื่อคืนรอยต่อระหว่างวันที่ 31 มกราคม กับ 1 กุมภาพันธ์ ปี 1953 ค่ะ เกิดคลื่นสูงในทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ (ไม่ใช่ซูนามิ หรืออะไรนะคะ แต่ทะเลแทบนั้นค่อนข้างจะแปรปรวนอยู่แล้ว) เหตุการณ์ครั้งนั้น คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,800 คน
หลังจากเหตุการณ์น้ัน แทบจะกล่าวได้ว่า คนดัตช์มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์นี้อย่างมาก ถึงขั้นสาบานว่าจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นโครงการ Delta Project จึงเกิดขึ้นค่ะ
Delta Project ประกอบด้วยการสร้าง คันกั้นน้ำและเขื่อน ตามที่ต่างๆ 12 เขื่อน รอบๆ ส่วนที่ติดกับทะเลเหนือค่ะ โครงการนี้ใช้เวลายาวนานถึง 45 ปี จึงสิ่งเหล่านี้เสร็จ ...แต่งานยังไม่จบนะคะ ยังต้องมีการบำรุงรักษา ต้องคอยติดตามระดับน้ำที่เพิ่มสูงทุกปี อันเนื่องจากสภาวะโลกร้อนด้วย
และทุกๆ ประมาณวันที่ 31 มกราคม จะมีการ update รายงานความคืบหน้าของโครงการนี้ให้ประชาชนทราบทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติด้วยค่ะ
เขื่อนและคันกั้นน้ำเหล่านี้ ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และงบประมาณจำนวนมากเลยค่ะ จนกล่าวได้ว่า Delta Project ถือเป็นมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลก
การจัดการน้ำในเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็น 2 ระดับค่ะ คือ 1) Waterschap เป็นการจัดการน้ำระดับท้องถิ่น มีการเลือกตั้งผู้บริหารน้ำโดยประชาชนในท้องถิ่นด้วยค่ะ คนดัตช์ทุกครัวเรือนจะต้องจ่ายภาษีน้ำให้แก่องค์กรนี้ทุกปี (นอกเหนือไปจากค่าน้ำที่ต้องจ่ายตามจริงอยู่เเล้ว)
2) Rijkswaterstaat ถ้าเทียบเป็นไทย ก็คือ ทบวง เป็นองค์กรระดับประเทศในการจัดการน้ำ งบประมาณที่ทบวงนี้ใช้ต่อปีอยู่ที่ 5,000 - 6,000 ล้านยูโร เฉลี่ยคนดัตช์จ่าย 330 ยูโรต่อคนต่อปี ...ถือว่าไม่เลวเลยค่ะ
หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกค่ะ โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ และอยากรู้จักประเทศนี้ให้มากขึ้น หนังสือมีภาพสวยๆ ให้ดูด้วย ข้อเสียคือเนื้อเรื่องไม่ค่อยปะติดปะต่อกันในเรื่องของช่วงเวลา ผู้เขียน เขียนโดยยึดภูมิศาสตร์เป็นหลัก ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ ดังนั้นบางครั้งเรื่่องจึงข้ามไปข้ามมา อ่านแล้วชวนให้งง
No comments:
Post a Comment