Friday, November 25, 2022

หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ

 


หนังสือชื่อ  :  หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ

ผู้แต่ง  :  มิยาชิตะ นัตสึ

ผู้แปล  :  พิมพ์พชร คุณโสภา

สำนักพิมพ์  :   อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)


ซื้อมาอ่านเพราะชอบชื่อเรื่องค่ะ ... เป็นหนังสือที่ดีนะคะ ไม่เลวเลย แต่ออกแนวสงบๆ เหมือนเสียงเปียโนเบาๆ น่ะค่ะ ประกอบกับสำนวนการแปลที่ดี แต่ไม่ว้าว เลยทำให้อรรถรสของหนังสือดูเฉยๆ ไปเลยค่ะ ...น่าเสียดาย

-

เนื้อเรื่องไม่หวือหวา แต่ดีค่ะ ไม่ใช่หนังสือฮาวทูแบบตั้งใจ แต่เรื่องเล่าในหนังสือกลับให้แง่คิดได้ดีทีเดียวเลย เป็นเรื่องของช่างจูนเปียโนหนุ่มชื่อ โทมุระ ที่ค้นพบว่าตัวเองหลงใหลในเสียงของเปียโนตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นการทำงานของช่างจูนเปียโนที่มาจูนเปียโนที่โรงเรียนมัธยม  

ตรงนี้เหมือนความประทับใจแรกเลยค่ะ ครั้งแรกที่โทมุระได้ยินเสียงจากการจูนเปียโน โดยผู้จูนคือช่างจูนเปียโนอัจฉริยะ ... มันคือสัมผัสของผู้เชี่ยวชาญทีทำให้โทมุระตกหลุมรักและต้องการเรียนการจูนเปียโน 

โทมุระมุมานะเรียนเป็นช่างเปียโน และกลับมาทำงานในบริษัทเดียวกับคุณอิทาโดริ นักจูนเปียโนอัจฉริยะ ... เนื้อเรื่องจึงเป็นเรื่องของโทมุระที่พยายามฝึกฝน มุมานะ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกท้อ เพราะดูเหมือนเขาจะไม่มี "พรสวรรค์" ทางด้านนี้เอาเสียเลย มีก็แต่ความหลงใหลในการสร้างเสียงของเปียโนเท่านั้น ที่ทำให้โทมุระมุมานะฝึกฝนอยู่ต่อไป 

ตรงนี้มันก็เหมือนเราทุกคนแหละค่ะ คณะที่เราเลือกเรียน อาชีพที่เราเลือกทำ เราเลือกทำตอนแรกเพราะรู้สึกชอบ แต่ทำไปทำมา ถ้าผลลัพธ์ของการพยายามออกมาไม่ดีนัก ทำไปทำมาก็รู้สึกท้อได้เช่นกัน เหมือนพยายามเท่าไรก็ไม่ได้ดีสักที ... ใครที่กำลังรู้สึกเช่นนี้อยู่ แนะนำให้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านค่ะ ...ลึกซึ้งทีเดียว 

-

1. เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของช่างจูนเปียโนค่ะ ... คืออาชีพช่างจูนเปียโนก็เป็นอาชีพเฉพาะทางอยู่แล้ว แถมเปียโนก็เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ใช่ว่าคนอ่านทุกคนจะเล่นเป็น หรือเคยเล่น แถมเรื่องยังดำเนินที่ญี่ปุ่น... ดังนั้นเนื้อเรื่องโดยพื้นฐานก็ทำให้คนอ่านมีส่วนร่วมกับเนื้อหายากอยู่แล้ว 

2. เนื่องเป็นเรื่องของ "เสียง" เปียโน ซึ่งหนังสือไม่สามารถเปล่งออกมาให้ฟังได้ ดังนั้นนักเขียนจึงพยายามอุปมาอุปมัยเสียงเปียโนออกมาให้เห็นเป็นภาพ โดยให้ในความคิดของโทมุระ เสียงเปียโนที่ดีจินตนาการเชื่อมไปถึงเสียงธรรมชาติในป่า ดอกไม้ ต้นไม้...​ในหนังสือมีการเขียนบรรยายถึงต้นไม้ ดอกไม้หลายชนิดเลยค่ะ แต่เป็นชื่อญี่ปุ่น ... ที่น่าเสียดายคือคนแปลไม่ยอมหาชื่อละตินใส่ให้ในเชิงอรรถ เลยทำให้คนอ่านจะเสิร์จหารูปต่อก็ไม่ได้ เช่น คนเขียนเขียนถึงต้นอิงโกะ ซึ่งเป็นต้นไม้ของฮอกไกโด ... แต่เสิร์จหารูปไม่เจอ คนแปลก็บอกแค่ชื่อ "ต้นอิงโกะ" คนอ่านก็จิตนาการไม่ออกว่าต้นมันหน้าตาอย่างไร เป็นต้น หรืออีกตอน บรรยายว่า "ค้อนที่จะเคาะลงกับสายนั้นดูราวกับดอกตูมของดอกคิตะโคบุชิ" ... แล้วเชิงอรรถ ผู้แปลก็บอกแค่ว่า มันคือ "ดอกไม้สีขาว ดอกตูมมีขนอ่อนคล้ายกำมะหยี่ของค้อนเปียโน" ... แค่เงี่ย!!! คิดว่าถ้าใส่ชื่อละตินให้ค้นดูรูปก็ดีนะคะ เราคนอ่านจะได้เห็นภาพตามได้

3. ในหนังสือยกกลอน (หรือบทความ?) ของนักเขียนชื่อ ฮาระ ทามิกิ ที่ทั้งโทมุระ (ตัวเอกของเรื่อง) และเพื่อนร่วมงาน คุณอิทาโดริ ต่างชื่นชอบ ... แต่คือกลอนนั้นอ่านแล้ว รู้สึกเฉยมากค่ะ คือมันน่าขนลุกตรงไหน? เป็นที่แปลได้ทื่อๆ ตรงๆ หรือเป็นที่กลอนมันไม่ว้าวแต่แรกอยู่แล้วก็ไม่ทราบได้ค่ะ

คืออาจจะคาดหวังกับการแปลที่เยี่ยมเยอะเกินไปน่ะค่ะ เพราะก่อนหน้านี้เคยอ่านหนังสือแปลจากภาษาญี่ปุ่นชื่อ "พระอาทิตย์เที่ยงคืน" ไป ซึ่งเล่มนั้นคนแปลเป็นไทยแปลดีมาก มีเชิงอรรถอธิบายต่างๆ ให้คนไทยที่ไม่เคยสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้าใจ ... คือถ้าคนแปลแปลแบบ "ฟังเสียงที่อยู่หัวใจ" เหมือนโทมุระ ในเรื่องนี้ หนังสือจะออกมาเยี่ยมเลยค่ะ

No comments:

Post a Comment