Sunday, December 18, 2022

จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money)

 


หนังสือชื่อ  :  จิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money)

ผู้เขียน  :  Morgan Housel

ผู้แปล. :  ธนิน รัศมีธรรมชาติ

สำนักพิมพ์  :  ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์


เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ค่ะ ควรอ่านอย่างยิ่ง แม้ส่วนตัวจะรู้สึกผิดหวัง เพราะคิดว่าจะมีเนื้อหาหนักๆ อ้างอิงงานวิจัยโน่นนี้ ... แต่เล่มนี้ไม่ใช่เลยค่ะ เนื้อหาออกแนวหนังสือ How to ซะมากกว่า ... แต่ถึงจะอย่างนั้นก็ตาม ก็นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ ควรอ่านค่ะ

การหาเงินได้ กับการใช้เงินไม่เหมือนกันค่ะ และคนรวยกับคนมั่งคั่งก็ไม่เหมือนกัน... อ่านเล่มนี้แล้วให้คิดถึงชีวิตการใช้ "เงิน" ของทั้งตัวเอง และคนใกล้ตัวค่ะ (ที่เราเห็นเขาโพสต์อวดชีวิตดี๊ดี ร๊วยรวย แล้วเราก็สงสัยว่า ทำไมเขารวยจัง แล้วเขาจะอวดไปทำไมง่ะ) ... 

หนังสือบอกเราว่า การตัดสินใจลงทุนไม่ใช่จะประสบความสำเร็จทุกครั้งไป ไม่มีการตัดสินใจที่ดีหรือการตัดสินใจที่เลวค่ะ เราตัดสินใจภายใต้กรอบข้อมูลที่เรามีอยู่ ณ ขณะนั้น เราตัดสินใจภายใต้อิทธิพลของครอบครัว หรือแม้กระทั่งสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่เราเติบโตมา ... แม้กระทั่งนักลงทุนเก่งๆ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกหุ้นที่เขาลงไปหรอกค่ะ... แต่ความสำเร็จเพียงแค่เล็กน้อยจากทั้งหมดที่เขาลงไป มันประสบความสำเร็จมากจนกลบความล้มเหลวที่ผ่านมาของเขาหมด ... แล้วเราคนนอกก็ชื่นชมเขาจากความสำเร็จ (ที่เป็นสัดส่วนน้อย แต่ยิ่งใหญ่) ของเขากัน 

หนังสือให้ความสำคัญกับการ "ออม" และการพยายามรักษาไลฟ์สไตล์ให้ต่ำกว่าที่คุณสามารถจ่ายได้ การรู้จัก "พอ" การหาความสุขกับสิ่งง่ายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายซื้อ เช่น อ่านหนังสือ นั่งเล่นกับแมว ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องมีความสุขกับการอวดรวย ซื้อรถหรูๆ แพงๆ หวังให้คนชื่นชม เราที่มีรถหรู ...แต่โปรดจำไว้ว่า ผู้คนชื่นชม "รถหรู" ไม่ใช่เจ้าของรถค่ะ เขาแทบจำไม่ได้ ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าใครคือเจ้าของรถ เขาฝันกลางวันว่าตนเองจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ "รถหรู" แบบนั้นบ้าง

หนังสือให้ความสำคัญกับการลงทุนในแบบที่ทำให้คุณนอนหลับได้อย่างสบายใจ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนตามอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เอาแบบที่เป็นตัวของตัวเองที่สุด ...และบทที่ 20 ของหนังสือ ผู้เขียนได้เขียนเล่าวิธีการลงทุนของตนเองไว้ค่ะ ซึ่งไม่ตรงกับที่ผู้เขียนแนะนำให้คนอื่นลงทุน เหตุผลเพราะค่านิยมส่วนตัว และเขารู้สึกสบายใจกับการลงทุนเช่นนี้

มันคือหนังสือที่สอนให้ใช้เงินอย่างไม่ประมาทน่ะค่ะ โดยใช้ภาษาง่ายๆ ไม่มีตัวเลขอะไรวุ่นวาย ดังนั้นใครๆ ก็อ่านได้ ... ผู้แปลก็แปลได้ดีค่ะ มีบ้างที่ใช้ประโยคเยิ่นเย้อ มีคำเชื่อมเยอะไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้แย่อะไร บางประโยคก็งงๆ ไม่เข้าใจความหมาย ... แต่โดยรวมแล้วอ่านเข้าใจดีค่ะ 

ถ้ามีเวลาน้อย ให้พลิกข้ามไปอ่านบทที่ 19 เลยค่ะ เพราะบทนั้นคือสรุปทั้งเล่มเอาไว้แล้ว ส่วนบทสุดท้ายบทที่ 20 ผู้เขียนเขียนเล่าพอร์ตการลงทุนส่วนตัวของตนเอง 

ส่วนบทส่งท้ายก็น่าสนใจค่ะ เป็นการเล่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาเศรษฐกิจอเมริกาในระดับครัวเรือนในตอนนี้ ... ตอนสงครามสิ้นสุดใหม่ๆ เศรษฐกิจอเมริกาถดถอยค่ะ ดังนั้นรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำดอกเบี้ยต่ำ กู้ยืมง่าย มีเครดิต ทำให้การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย รณรงค์ให้เกิดการบริโภคในประเทศ ซึ่งในตอนนั้นช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยคนจนไม่ได้เยอะมาก ดังนั้นทุกคนจึงเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในทางด้านวัตถุ ทุกบ้านมีรถเหมือนๆ กัน มีเครื่องซักผ้า ทีวีเหมือนๆ กัน ... แต่พอมาตอนนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนถ่างมากขึ้น แต่ค่านิยมของการมีเหมือนเพื่อนบ้านยังคงอยู่ ดังนั้นคนจนจึงยอมเป็นหนี้ เพื่อที่จะมีให้เหมือนคนรวย ...


No comments:

Post a Comment