Thursday, December 29, 2022

Emotional Design

 


หนังสือชื่อ  :  Emotional Design

ผู้เขียน  :  Donald A. Norman

สำนักพิมพ์  :  Basic Books


เป็นหนังสือเก่าค่ะ (ฉบับที่อ่านตีพิมพ์เมื่อปี 2004) แต่หลายเรื่องในหนังสือ และแนวคิดหลักของหนังสือน่าสนใจ และยังใช้มาจนทุกวันนี้

ผู้เขียนคือ Norman เคยเป็นหัวหน้าแผนก UX ของแอปเปิ้ลค่ะ เป็นคนออกแบบผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีดีไซน์ และเป็นมิตรกับผู้ใช้ ก่อนที่วงการคอมพิวเตอร์จะมีบัญญัติคำว่า UX (User Experience) มาใช้เสียอีกค่ะ

เนื่องจากหนังสือนี้เขียนนานแล้ว ดังนั้นเนี่ย จึงผ่านการเวลาพิสูจน์ว่าสิ่งที่ Norman เขียนได้กลายเป็นความจริงในปัจจุบันนี้ค่ะ 

หนังสือเล่าเรื่องแนวคิดการออกแบบที่ใส่ "อารมณ์-emotional" ลงไปด้วย โดย emotional design แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. Visceral Level - เป็นระดับพื้นฐานของมนุษย์ การออกแบบโดยคำนึงถึงรูป รส สัมผัส ตัวอย่างเช่น ของเล่นเด็ก ที่จะออกแบบกระตุ้นในระดับนี้ ด้วยการออกแบบของเล่นให้มีสีสันสดใส ทำให้เด็กตอบสนองด้วยการอยากเล่น เป็นสัญชาติพื้นฐานเลย

2. Behavioral Level - เน้นเรื่องการใช้งาน ของที่ออกแบบมาต้องสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ที่มันสร้างมา พร้อมกันนั้นต้องคำนึงถึงการใช้งานที่เป็นมิตร นักออกแบบที่ต้องการเข้าถึงการออกแบบในระดับนี้ ต้องทำการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้ขณะใช้งาน เพราะบางครั้งผู้ใช้ใช้สิ่งนั้นจนชิน จนไม่รู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคหรือมีฟังก์ชั่นที่ไม่สะดวกต่อการใช้งานอยู่

3. Reflective Level - เป็นระดับที่ซับซ้อน บางครั้งขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมของผู้ใช้ด้วย

ผู้เขียนยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัว ตอนได้รับหมึกอินเดีย ​(india ink) เป็นของขวัญจากเพื่อน หมึกบรรจุอยู่ในแท่งชุดอย่างดี ดีไซน์สวยงาน นั่นคือความประทับใจแรก (ระดับ visceral) แล้วทันใดนั้น เขาก็คิดถึงการใช้มันตอนสมัยเรียน (ระดับ Behavioral) ซึ่งมันใช้ยากมาก มันไม่ได้ดั่งใจ และทำให้เขาต้องเสียเวลาเป็นวันๆ ในการพยายามทำให้มันออกมาในแบบที่ต้องการ เป็นความรู้สึกแบบ hate-love ทั้งรักทั้งเกลียด ซึ่งเป็นความทรงจำในระดับ reflective

ในเล่ม ผู้เขียนเขียนถึงการออกแบบที่ใส่อารมณ์ต่างๆ เข้าไป เช่น อารมณ์สนุก และมีความสุขที่ใช้ในการออกแบบเกมส์ ดนตรีและเสียงที่ใส่ในภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้ออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้มีความสุขเมื่อใช้ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการออกแบบทางคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้ต้องทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ เช่น ต้องกรอกข้อมูล ต้องคลิกตามคำสั่ง - ความร่วมมือแบบนี้ต้องมาคู่กับความไว้ใจ เป็นจิตวิทยาน่ะค่ะ ต้องมีตัวบอกว่ากระบวนการนี้ถึงขั้นไหนแล้ว เหมือนไรจะเสร็จ (เหมือนเกจวัดน้ำมัน บอกว่าน้ำมันเหลือเท่าไรในถัง) ซึ่งถ้าผู้ใช้เชื่อถือในมาตรวัดนั้น ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้น ผู้ใช้จะกล่าวโทษตัวเองที่ไม่รอบคอบ แทนที่จะโทษผลิตภัณฑ์ 

หรือในบทที่กล่าวถึงหุ่นยนต์ Norman ก็ทำนายอนาคตได้อย่างน่าสนใจทีเดียวค่ะ เพราะสิ่งที่เขาเขียนกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันนี้

นับว่าเป็นหนังสือที่ถึงแม้จะเก่า แต่อ่านแล้วได้แนวคิดดีๆ ค่ะ


No comments:

Post a Comment