Tuesday, February 28, 2023

The Invisible Computer


 

หนังสือชื่อ  :  The Invisible Computer : why good products can fail, the personal computer is so complex, and information appliances are the solution

ผู้แต่ง  :  Donald A. Norman

สำนักพิมพ์  :  The MIT Press


หนังสือเก่าค่ะ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1999 ซึ่งสำหรับหนังสือที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีแล้ว จัดว่าเป็นหนังสือเก่าค่ะ ... แต่กลายเป็นว่า คือหนังสือดี ที่ถ้าไม่ได้อ่านจะรู้สึกว่าพลาดอะไรไปหลายๆ อย่างเลย

เรียกได้ว่าหนังสือเล่มนี้คือหนังสือที่เขียนทำนายอนาคตของคอมพิวเตอร์และแอปพลิเคชั่นก็ไม่ผิดค่ะ ผู้เขียนเขียนหนังสือขึ้นมาในยุคที่คำว่า User Experience ยังไม่รู้จักกันแพร่หลายด้วยซ้ำค่ะ ปกติเวลาที่เราย้อนมาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของคนเขียนในอดีตเนี่ย ส่วนใหญ่แล้วคนทำนายมักจะทำนายพลาด มักจะคาดการณ์สิ่งต่างๆ พลาด ...ทำให้พอเรามาอ่านในไทม์ไลน์ปัจจุบัน เราก็ทนอ่านไม่ลง โยนหนังสือทิ้งตั้งแต่เปิดอ่านได้ไม่กี่หน้า .... แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เลยค่ะ

ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับผู้อ่านว่า ทำไมโทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์อันเลื่องชื่อ ผู้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ และขายเป็นคนแรกในตลาด แต่ทำไมสุดท้ายสินค้าของเขาจึงไม่ประสบความสำเร็จ? ทำไมการเป็นผู้นำตลาดเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้เอดิสันได้เปรียบ? 

ผู้เขียนแสดงแผนภาพ Life cycle of technology หรือวงจรของผลิตภัณฑ์ ที่สินค้าเทคโนโลยีตัวหนึ่งเมื่อออกสู่ตลาดครั้งแรก จะผลิตโดยเน้นวิศกรรม มีฟังก์ชั่นทางเทคนิคเต็มไปหมด ผู้ใช้ต้องมีความรู้ประมาณหนึ่งจึงจะสามารถใช้งานได้ เหมือนคอมพิวเตอร์ในยุคแรกๆ ที่เต็มไปด้วยคำสั่งภาษาแปลกๆ มากมายที่คนใช้ต้องจำ ...​แต่เมื่อเวลาผ่านไป สินค้าขยายขึ้น มีคนใช้มากคิด ความซับซ้อนของสินค้าจะน้อยลง จะต้องถูกทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น จนถึงในที่ก็ให้เหมือน "หายไปเลย" คือคนใช้แทบไม่รู้สึกเลยว่ากำลังใช้สินค้าตัวนั้นอยู่ คนใช้รู้แค่ว่าต้องการให้งานของตนเองสำเร็จดังตั้งใจเท่านั้น

เหมือนมอเตอร์ ตอนประดิษฐ์ขึ้นมาแรกๆ มีใช้แต่ในอุตสาหกรรม มีแต่วิศกรรู้ว่าจะใช้งานมันอย่างไร ... เวลาผ่านไป ตอนนี้มอเตอร์เป็นส่วนประกอบในเครื่องไฟฟ้าหลายชนิด โดยที่คนใช้ไม่ได้สนใจ คือมัน invisible ไป มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว 

และคอมพิวเตอร์ก็กำลังอยู่ในยุคที่ลูกค้าคือคนกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่วิศกรหรือนักโปรแกรมเมอร์อีกต่อไป คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทุกคนจะมีคอมพิวเตอร์ใช้ ...และเมื่อคอมพิวเตอร์กระจายสู่คนทั่วไป การออกแบบสินค้าให้ใช้ง่าย การออกแบบสินค้าโดยให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางจึงสำคัญ ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อการใช้งานของผู้ใช้ ให้ดูเหมือนง่าย คิดไว้เลยว่าผู้ใช้ไม่มีใครซื้อผลิตภัณฑ์มาแล้วอ่านคู่มือเป็นอย่างแรกหรอก ทุกคนซื้อมาก็ลงมือใช้เลยทั้งนั้นแหละ





Wednesday, February 22, 2023

Snow

 


หนังสือชื่อ  :  Snow

ผู้แต่ง  :  John Banville

สำนักพิมพ์  :  Faber & Faber Limited


เป็นนิยายแนวสอบสวนสืบสวน/ทริลเลอร์แนวพีเรียด ผู้เขียนบรรยายสิ่งต่างๆ ได้สวยงาม เห็นภาพ แต่สิ่งที่บรรยายนั้นไม่ได้ช่วยอะไรในการสืบสวน หรือไม่เกี่ยวกับเรื่องคดีเลย บรรยายน้ำท่วมทุ่งมาก ...ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเลยอ่านสนุก เพราะได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ ในการบรรยายคุณลักษณะสิ่งต่างๆ แต่ถ้าเอามาแปลเป็นภาษาไทย นิยายเล่มนี้คงไม่เวิร์กค่ะ คนอ่านจะรู้สึกทันทีว่าใช้คำฟุ่มเฟือย บรรยายสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ไม่ได้เป็นส่ิงที่เป็นสาระกับคดีเลย

เรื่องเกิดขึ้นที่ Ballyglass House ประเทศไอร์แลนด์  ในปี 1957 -- ในสมัยนั้นผู้คนยังศรัทธากับศาสนาอย่างมาก และที่ไอร์แลนด์ก็จะมีความขัดแย้ง (ไม่ถึงกับทะเลาะกัน แต่อารมณ์ประมาณพวกฉันพวกเธอ) ระหว่างสองนิยาย แคทอธิก กับโปรเตสแตนต์

เกิดคดีบาทหลวงแคทอธิกถูกแทงตายที่ห้องสมุดของคฤหาสน์ Ballyglass House -- ทางเมืองหลวงจึงส่งนักสืบ Strafford พร้อมผู้ช่วย Jenkins ให้มาสืบสวนเรื่องนี้ 

บาทหลวงตายเป็นเรื่องใหญ่ค่ะ แถมถูกฆาตกรรมด้วย ดังนั้นในช่วงแรกทางการจึงพยายามปิดข่าว และบิดเบือนว่า บาทหลวงเสียชีวิตจากการอุบัติเหตุตกบันได แต่จริงๆ แล้วคือถูกแทงที่คอ และถูกลูกอัณฑะถูกตัดหายไป

พอหนังสือบอกว่าบาทหลวงตาย และจากสภาพศพ ...เราคนอ่านก็เดาเรื่องได้แล้วค่ะว่าจะเป็นไปในทางไหน ...ซึ่งก็ไม่ผิดจากที่เดาเลยค่ะ

บ้านที่บาทหลวงไปพักดูแปลกๆ บาทหลวงเป็นพระในนิกายแคทอธิก ในขณะที่ครอบครัว Osborne เป็นโปรเตสแตนต์? บาทหลวงมาพักที่นี่บ่อยมาก (มากเกินไป) -- ศพมีการจัดท่าทางใหม่ เนื่องจากแม่บ้านผู้เคร่งศาสนารับไม่ได้ที่จะให้บาทหลวงนอนตายอนาถ เลยทำความสะอาดเช็ดคราบเลือดออกซะเอี่ยม รวมถึงจัดมือของศพให้ประสานกัน ให้ดูเหมือนเป็นการตายอย่างสงบ (ทั้งหมดนี้ทำก่อนที่ตำรวจจะมาถึง) -- เห็นได้ชัดว่าทั้งบ้านไม่มีร่องรอยการงัดแงะ ฆาตกรจึงควรเป็นใครสักคนในบ้านหลังนั้น ในคืนเกิดเหตุนั้นแหละ

ในคืนเกิดเหตุ บ้านมีบาทหลวง, Geoffrey Osborne เจ้าของบ้าน, Sylvia ภรรยายังสาวของเจ้าของบ้าน และเป็นผู้พบศพ, Dominic และ Lettie ลูกชายและลูกสาว - และในป่าในอาณาเขตของคฤหาสน์มีเด็กเลี้ยงม้า Fonsey พักอยู่คนเดียวในคาราวาน

อ่านไปก็รำคาญไป ที่หนังสือเน้นเรื่อง "ชื่อ" มากกว่าหาว่าใครคือฆาตกร มีการย้ำชื่อของ Strafford มากเกินพอดี (แบบเขียนให้ตัวละครอื่นๆ จำชื่อ หรือออกเสียงชื่อของ Strafford ผิด แล้วเขาก็ต้องแก้ให้ถูกตลอด) ต่อมา Jenkins หายตัวไป ก็เขียนให้ตัวละครคนอื่นจำชื่อไม่ได้ และ Strafford ต้องย้ำชื่อของ Jenkins ซ้ำๆ ในหลายๆ ฉาก

คือถ้าจะอ่านเอาสนุก เอาบรรยากาศการสืบสวนหาฆาตกร เล่มนี้คงไม่เหมาะค่ะ เพราะตัวนักสืบ Strafford ก็เหมือนไม่ได้จริงจังกับหน้าที่ ถามอ้อมไปอ้อมมา ...คือมีคนตาย แถมเป็นคนสำคัญ มันควรจะตั้งคำถามกับพยานแวดล้อมให้จริงจังกว่านี้ป่ะ นี่ถามเหมือนนินทากันระหว่างกินมื้อเที่ยง 

สุดท้ายที่จับคนร้าย (คนที่คิดว่าเป็นคนร้าย) ก็เพราะ Strafford โชคดีบังเอิญเห็นว่าใครเป็นคนขับรถตู้คันที่ต่อมาพบขโมยมา

หนังสือเขียนเรื่อยๆ บรรยายเยอะ สิ่งที่บรรยายก็ไม่ได้ย้อนมาเฉลยหรือไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคดีเลย เช่น 

1. อาปิชอบ กับผู้ช่วยของเขา ตอนแรกก็นึกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร ปรากฎว่าไม่เกี่ยว (ดูเหมือนอาปิชอบรู้เรื่องลับๆ ของผู้ตาย)

2. Sylvia ผู้อ่อนแอ และหมอที่ดูใส่ใจเธอเป็นพิเศษ เกิดอะไรขึ้นกับเธอ ดูไม่ชอบมาพากล แต่ Strafford ก็ไม่ได้สนใจสืบสวนต่อ และปล่อยเธอไว้อย่างนั้น 

3. Peggy พนักงานในโรงแรมที่ Strafford พัก คือความสัมพันธ์ไม่เกี่ยวกับคดีเลย แต่ก็ใส่มา เพื่อ???

4. คดีจบ จริงๆ ไม่เคลียร์หรอก และตัว Strafford ก็รู้ดี แต่หาตัวคนที่เหมาะสมเป็นคนร้ายได้ คือคนที่มีความสำคัญต่อสังคมน้อยที่สุด เจ้านายพอใจ คดีปิด Strafford ก็กลับเมืองหลวง

5. นิสัยส่วนตัวและอารมณ์ของ Strafford คือเป็นคนแบบถ้าได้อยู่ใกล้ใครก็รักคนนั้น แต่ฉาบฉวย ไม่อยากเอาตัวเองกระโจนเข้าไปในวงรักๆ ใคร่ๆ ถนัดที่จะเฝ้าดูอยู่รอบนอก 

คือเป็นหนังสือสอบสวนที่จบไม่เคลียร์ว่าใครคือฆาตกร ตัว Strafford เองก็ไม่แคร์ที่จะเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ -- ก็ถือเป็นตอนจบที่มีเสน่ห์แบบหนึ่งนะคะ ดูเรียลดี เหมือนชีวิตจริงแหละ บางคดีก็ให้มันจบแบบนี้แหละดีแล้ว เสียหายแก่สังคมน้อยสุด ไอ้ที่เกิดขึ้นไปแล้วก็กลับไปแก้ไม่ได้แล้ว ชีวิตเดินหน้าต่อไป




Tuesday, February 14, 2023

The Love Hypothesis

 


หนังสือชื่อ  :  The Love Hypothesis

ผู้แต่ง  :  Ali Hazelwood

สำนักพิมพ์  :  Berkley


นิยายรักอ่านสบายๆ ก่อนนอนค่ะ เป็นนิยายรักในรั้วมหาลัยสแตนฟอร์ด แนวนักวิจัยวิทยาศาสตร์พบรักกันในมหาวิทยาลัย นางเอกคือ Olive เป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขาชีววิทยา ส่วนพระเอกคือ Adam เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะเดียวกับนางเอก

ถึงแม้พล็อตเรื่องจะเป็นเรื่องของนักเรียนกับอาจารย์ แต่ไม่มีอะไรผิดศีลธรรมนะคะ ก็เพราะนางเอกเป็นนักศึกษาปริญญาเอก อายุ 26 แล้ว ส่วนพระเอกเป็นอาจารย์ก็จริงแต่ไม่ใช่อาจารย์ของนางเอกโดยตรงค่ะ ไม่ใช่ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ไม่ใช่กรรมการพิจารณาวิทยานิพนธ์ เรียกว่าแค่อยู่คณะเดียวกันเท่านั้นเองค่ะ และความรักของทั้งคู่อยู่ในสายตาคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยโดยตลอดค่ะ

หนังสือเร่ิมด้วยฉากเปิดตัวตอนที่ทั้งคู่พบกัน ตอนนั้นนางเอกมาสอบสัมภาษณ์ ยังไม่ได้เข้าเรียนค่ะ แล้วโบ๊ะบ๊ะเข้าห้องน้ำผิด ไปเข้าห้องน้ำชายที่พระเอกก็กำลังเข้าไปเทสารเคมีบางอย่างในห้องน้ำ ทั้งคู่เจอกัน แต่นางเอกจำหน้าพระเอกไม่ได้เพราะตอนนั้นกำลังเคืองตาเนื่องจากใส่คอนแทคเลนส์หมดอายุ ...ทั้งคู่คุยกัน นางเอกเพิ่มความโบ๊ะบ๊ะไปด้วยการไม่รู้ว่าพระเอกเป็นอาจารย์ คิดว่าเป็นนักศึกษารุ่นพี่ ...และนั่นเป็นความประทับใจแรกที่พระเอกมีต่อนางเอก

....เวลาผ่านไปสามปี ทั้งคู่ก็ไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ 

จนกระทั่งค่ำวันหนึ่ง นางเอกคว้าพระเอกมาจูบกลางคณะ!!!

คือแบบว่า แฟนเก่านางเอก (ซึ่งเลิกจากกันด้วยดี แบบไปเดทกันครั้งสองครั้ง แล้วรู้ตัวดีว่าไม่คลิก ก็เลิกกันดีๆ) ไปจีบเพื่อนสนิทนางเอก ซึ่งเพื่อนนางเอกก็ชอบเขาแหละ แต่มโนธรรมบอกว่าไม่อยากแย่งเพื่อน ถึงนางเอกจะบอกว่าเลิกกันแล้ว ไม่คลิก เพื่อนที่แสนดีก็ยังไม่เชื่อ ...นางเอกเลยต้องโกหกว่า นางเอกมีแฟนแล้ว และคืนนี้จะไปออกเดทกับแฟน

แต่ความจริงคือนางยังไม่มีใครไงคะ เลยไม่มีที่ไป ก็เลยกลับไปห้องวิจัย ทำงานฆ่าเวลา... แต่เรื่องมันเกิดเพราะเพื่อนสนิทดันเข้าคณะคืนนั้น นางเอกเห็นพอดี เลยต้องคว้าคอผู้ชายคนที่ซวยเดินผ่านมามาจูบต่อหน้าต่อตาเพื่อน อารมณ์ให้เพื่อนเข้าใจผิดว่าเนี่ยฉันกำลังสวีตกับแฟนอยู่

จูบแล้วถึงได้รู้ตัวว่าคว้าใครมาจูบ!!! ซึ่งก็คือพระเอกนั่นเอง ...ซวยแหละ คว้าอาจารย์มาจูบกลางคณะ 555

แล้วหลังจากนั้นก็เป็นการเจรจาหาผลประโยชน์ที่ลงตัวกันค่ะ กลายเป็นแฟนสมมุติกัน นางเอกก็ได้แฟนปลอมๆ มาเพื่อให้เพื่อนสนิทได้ตัดสินใจคบกับแฟนเก่านางเอก ส่วนพระเอกก็ให้คณะกรรมการของมหาวิทยาลัยรู้สึกว่าพระเอกจะไม่ย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยอื่น และพิจารณาให้ทุนวิจัยแก่พระเอกเต็มจำนวนเหมือนเดิม

ความสัมพันธ์ที่เริ่มจากเรื่องโกหก แต่พัฒนาการความรักกลับเป็นเรื่องจริง 

หนังสือเขียนเล่าแต่ในมุมของนางเอกเท่านั้นค่ะ ความสนุกจึงอยู่ที่คนอ่านรู้สึกถึงเคมีของทั้งคู่ รู้ว่าพระเอกชอบนางเอก (น่าจะชอบมาตั้งนานแล้ว) แต่นางเอกยังไม่รู้ตัว ...น่ารักดีค่ะ

สนุก เบาๆ จบแฮปปี้ค่ะ 

ป.ล. บทที่ 16-17 เนี่ย NC ทั้งบทเลยค่ะ อ่านกันให้เลือดกำเดาไหลไปเลยยยย