Tuesday, December 11, 2012

Adapt : ปรับตัว ทำไมความสำเร็จมักเริ่มที่ความผิดพลาด



หนังสือชื่อ : ปรับตัว ทำไมความสำเร็จมักเริ่มที่ความผิดพลาด

ผู้แต่ง : Tim Harford

ผู้แปล : อรนุช อนุศักดิ์เสถียร

สำนักพิมพ์ : มติชน

ขายแล้วค่ะ !!!


     เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่อ่านเข้าใจง่าย สนุก และได้แรงบันดาลใจค่ะ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ทำให้ได้แง่คิดที่ว่า "จงยินดีรับความผิดพลาดด้วยความเบิกบานใจ" เพราะนั่นคือเราจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากความผิดพลาดนั้น จงทดลองกับไอเดียใหม่ๆ ถึงผลที่ได้จะออกมาไม่ได้อย่างหวัง ก็อย่าเลิกล้ม นำมาปรับปรุง และทดลองอีกครั้ง จนสำเร็จในที่สุด และก็อย่ายึดติดกับความสำเร็จนั้น ทำลายมัน และทดลองใหม่ เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ :) ... ชีวิตคือการทดลอง

     หนังสือเริ่มต้น ด้วยความผิดพลาดมากมายของนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจที่ทำนายไว้เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ ดูเหมือนผู้เชี่ยวชาญก็ทำนายพลาด หรือบริษัทบางบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา กลับประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะว่า โลกใบนี้ซับซ้อนเกินกว่าที่ใครจะวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องเเม่นยำ และดูเหมือนเราจะตามืดบอดกับอนาคตของเรามากกว่าที่เราคิด โลกนี้จึงเป็นโลกของการลองผิดลองถูก

      ผู้เขียนได้ยกตัวอย่าง ความเชื่อของกองทัพสหรัฐในสงครามอิรักว่า ถ้าเป็นฝ่ายล้ำหน้าในเทคโนโลยี มีข้อมูลพร้อม ก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น ในสงครามอิรัก การตัดสินใจจึงกระทำในห้องบัญชาการไฮเทค ภายใต้เครื่องคอมพิวเตอร์มากมาย ที่จับสัญญาณความผิดปกติต่างๆ จับความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา พวกผู้บัญชาการมีเเนวโน้มที่จะเชื่อว่า สามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ผ่านจอคอมพิวเตอร์ แต่ความเชื่อนี้ ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ในอิรักดีขึ้น สถานการณ์ในอิรักดีขึ้นเมื่อกองทัพสหรัฐเรียนรู้จากความผิดพลาด และยอมให้ฝ่ายแนวหน้ามีอำนาจในการตัดสินใจ เพราะเหล่าแนวหน้ามี "ความรู้เกี่ยวกับสภาพการณ์ ณ เวลาและสถานที่หนึ่งๆ" ดีที่สุด ไม่มีทฤษฏีใดที่ใช้ได้ผลกับทุกสถานการณ์

     การแก้ปัญหา หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ก็อาจเกิดขึ้นจากการทดลอง เช่น เครื่องบินขับไล่สปิตไฟร์ซูเปอร์มารีน เครื่องบินขับไล่อันเกรียงไกรของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเกิดจาก "การทดลองที่น่าสนใจ" โครงการเล็กๆ โครงการหนึ่ง หรือการค้นพบเส้นลองติจูด ที่นักดาราศาสตร์ของหอดูดาวหลวงไม่สามารถค้นหาวิธีคำนวณเส้นลองติจูดได้ จึงตั้งรางวัลให้กับผู้ที่แก้ปัญหานี้ได้ เป็นแรงจูงใจให้ช่างไม้ ชื่อ จอห์น แฮริสัน นำเสนอทางแก้ปัญหานี้ หรือการที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ปฏิเสธที่จะให้ทุนวิจัยโครงการที่สามแก่ มาริโอ คาเพกกี เนื่องจากดู "เสี่ยงเกินไป" แต่คาเพกกีตัดสินใจที่จะเสี่ยง โดยการนำเงินวิจัยที่ได้จากสองโครงการแรกมาใช้ในโครงการนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการตัดต่อยีน และคาเพกกีได้รับรางวัลโนเบลทางการแพทย์

      บางครั้งการลงมือทำอะไรสักอย่าง ด้วยทัศนคติของการกลัวการล้มเหลว จึงทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งดีๆ ไป เพราะนี่คือเหตุผลที่ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐตัดสินใจไม่ให้ทุนแก่ คาเพกกีในโครงการที่สาม เมื่อเรากลัวการล้มเหลว งานของเราจึงได้แต่ "ประคองตัว" แต่ไม่โดดเด่น ไม่ใช่นวัตกรรม ไม่สร้างความตื่นตะลึง

       หนังสือเล่มนี้ ยังได้กล่าวถึง งานของโมฮัดหมัด ยูนุส เจ้าของธนาคารกรามีนของศรีลังกา และเจ้าของรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ที่ว่าความสำเร็จของเขา ก็มาจากการทดลองที่ล้มเหลวในตอนแรกเช่นกัน หนังสือยังได้กล่าวถึง การให้เงินความช่วยเหลือเเก่ประเทศที่ยากจนขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ว่ามีการวัดผลที่ฉาบฉวย ความเชื่อบางอย่างในอดีต เช่นการรักษาคนไข้ด้วยการสูบเลือดออก หรือเชื่อว่าควรให้เด็กทารกนอนคว่ำ เป็นความเชื่อที่ปราศจากการทดลองพิสูจน์ เมื่อไม่ได้ทดลอง และวัดผล แต่กลับเชื่ออย่างผิดๆ ผลออกมาก็ไม่ถูกต้อง และเราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

       ในเเง่ของภาวะโลกร้อน ผู้เขียนได้วิจารณ์นโยบายของประเทศต่างๆ ที่เป็นนโยบายจาก "บนลงล่าง" คือมีการออกมาตรการต่างๆ โดยให้ใช้กับทุกคน หากแต่มาตรการเหล่านั้น ใช้ได้แค่กับสถานการณ์หนึ่งๆ กับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ครอบคลุมได้ทั้งหมด มันจึงดูเหมือนรัฐบาลกำลังสร้างสุนัขบลูด๊อกทางเศรษฐกิจขึ้นมา (สุนัขบลูด๊อก เป็นหมาพันธุ์ที่เราผสมขึ้นมาเอง มันจึงมีปัญหาทางสุขภาพหลายอย่าง) ผู้เขียนบอกว่า เนื่องจากรัฐบาลรู้เรื่องนี้น้อยที่สุด ดังนั้นหน้าที่ของรัฐบาลจึงควรเป็นเพียงแค่อำนวยความสะดวกในการแข่งขัน ไม่ควรเป็นผู้ออกระเบียบที่เฉพาะเจาะจงในระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อน
          
         ผู้เขียนพยายามบอกพวกเราว่า วิวัฒนาการฉลาดกว่าเรา และวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเอาชนะกฏเกณฑ์ที่เรากำหนดขั้นเพื่อชี้นำเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นถ้าเราปล่อยให้กระบวนการวิวัฒนาการแก้ปัญหาโดยอิสระแล้ว มันมักหาทางออกได้เอง

         แล้วกับระบบที่ไม่ควรมีข้อผิดพลาดล่ะ อย่างเช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือระบบการเงินการธนาคารโลก ตรงนี้ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างความเหมือนกันอย่างน่ามหัศจรรย์ ในแง่ความซับซ้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และระบบการเงินของอเมริกา แต่ระบบการเงินของอเมริการกลับคำนึงถึงความปลอดภัยน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาก ผู้เขียนบอกว่า ระบบความปลอดภัยบางครั้งก็เป็นภัย โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ทั้งอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กับ AIA ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ประสบวิกฤตทางการเงิน บทเรียนที่ได้จากวิกฤตเศรษฐกิจคือ เราไม่ควรสร้างโดมิโน หรือระบบการเงินที่เชื่อมโยงกัน จนกระทั่งเมื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งล้ม ธนาคารที่เหลือก็ซวนเซ เราควรสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ประตูนิรภัย" เพื่อป้องกัน เนื่องจากเราไม่มีทางที่จะกำจัดความผิดพลาดได้ ดังนันเราควรออกแบบระบบให้เรียบง่าย แยกระบบที่มีความเสี่ยงสูงออกจากกัน กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการเเจงเบาะแสเมื่อเกิดความผิดพลาด และต้องเตรียมพร้อมเสมอกับอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้

       ในแง่ขององค์กร เช่น บริษัท ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวด้วยเช่นกัน ผู้เขียนได้ยกตัวอย่าง บริษัทกูเกิล ซึ่งกลยุทธ์ของกูเกิล คือไม่มีกลยุทธ์ การมีนโยบายให้พนักงานสามารถใช้ 20% ในเวลางานไปกับการ "ทดลอง" โครงการอะไรก็ได้ที่อยากทำ โดยไม่ต้องรออนุมัติด้วย!!! กูเกิลจึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หลายอย่างที่ได้จากการทดลองนี้ (แต่แน่ล่ะ หลายๆ ก็ทดลองก็ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่โชคดีที่ไม่มีใครจำได้ ผู้คนจำได้แต่ความสำเร็จเท่านั้น)

         แล้วในแง่ชีวิตส่วนตัวของเราล่ะ ในทางจิตวิทยา การไม่ยอมรับความจริงว่าเราผิดพลาด เป็นความตึงเครียดในจิตใต้สำนึกเมื่อรับรู้ความคิดที่ขัดแย้งกัน เช่น เมื่อเราเล่นพนันแล้วเสีย บางคนจะถลำและเล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ 
        
        ผู้เขียนแนะนำว่า เราควรจะมี "ก๊วนรู้ใจแต่ไม่เออออ" เพื่อนที่คอยชี้แนะ และให้คำปรึกษาสิ่งที่เราทำ เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดพลาด และให้ผิดเป็นครู เมื่อเราต้องการทดลองทำสิ่งใหม่ เราควรสร้างพื้นที่ปลอดภัย แล้วทำการทดลองนั้น เช่น กันเงินบางส่วนไปลงทุนที่คนอื่นมองว่าเสี่ยง ถึงแม้จะขาดทุนในที่สุด แต่เราก็ยังมีเงินอีกส่วนเหลือ 

           ในโลกที่ซับซ้อน การทำอะไรครั้งแรกมักไม่ประสบผลสำเร็จ การรับเอาความคิดเรื่องการปรับตัวมาใช้ในชีวิตประจำวัน คือการยอมรับว่า เราจะล้มลุกคลุกคลานอยู่เนืองๆ แต่ขอให้เตือนตัวเองว่า การลองอะไรใหม่ๆ นั้น คุ้มค่า ความสำเร็จเพียงครั้งเดียวอาจพลิกชีวิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ความล้มเหลวก็ไม่ได้ทำให้เราแย่ลง ตราบใดที่เราไม่ปฏิเสธความจริงแล้วถลำลึก

            สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ ซื้อต่อได้นะคะ ในราคา 125 บาท ซึ่งเป็นราคาลด 50% แล้วค่ะ ติดต่อได้ที่ kasibanoy@gmail.com ค่ะ







     

No comments:

Post a Comment