Friday, June 21, 2024

The Man Who Died Twice

 


หนังสือชื่อ  :  The Man Who Died Twice

ผู้แต่ง  :  Richard Osman

สำนักพิมพ์  :  Viking (an imprint of Penguin Books)


สนุกค่ะ อารมณ์ขันแบบอังกฤษ ตัวละครหลักเป็นผู้สูงวัย (70+) ดูเหมือนนี่จะเป็นเล่มที่สองในซีรีย์นี้ แต่อ่านแยกได้ไม่งงค่ะ อาจจะมีบ้างที่ไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ของตัวละครบางคน แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักค่ะ 

แก๊งส์ The Thursday Murder Club เป็นกลุ่มผู้สูงวัย ประกอบไปด้วย

- Joyce Meadowcroft

- Ron Ritchie

- Ibrahim Arif

- Elizabeth Best

เริ่มจาก Elizabeth ได้รับจดหมายขอนัดเจอจากคนที่ตายไปแล้ว ซึ่งเป็นคนที่ Elizabeth ชันสูตรศพด้วยตัวเองด้วย ด้วยความอยากรู้ เธอจึงไปพบ ...และกลายเป็นว่า เจอกับอดีตสามี Douglas

Douglas เป็นสายลับ MI5 ปฏิบัติภารกิจพลาด ในระหว่างเข้าไปสืบในบ้านของอาชญากร Martin Lomax แล้วเพชรดันหายไป (ภารกิจราชการให้เข้าไปสืบในบ้านเฉยๆ แต่ Douglas ดันถือโอกาสขโมยเพชรมาด้วย ตั้งใจเอาไปใช้เป็นทุนตอนเกษียณ) ...ความซวยคือ Lomax ดันจับได้จากกล้องวงจรปิดว่าใครเป็นขโมย ดังนั้น Douglas ก็เลยต้องซ่อนตัว และขอให้อดีตภรรยา Elizabeth ช่วย

Martin Lomax คือนายประกันในโลกอาชญากรรม เป็นคนกลาง อย่างในเรื่อง มาเฟียอเมริกาจะซื้อยาจากพ่อค้ายา ในเมื่อทั้งคู่อยากทำธุรกิจกัน แต่ต่างไม่ไว้ใจกันและกัน ดังนั้นจึงต้องมีคนกลางที่น่าไว้ใจเป็นคนค้ำประกัน มาเฟียอเมริกาเอาเพชรมาค้ำประกันกับ Lomax และถ้าพ่อค้ายาส่งยาให้มาเฟีย Lomax ก็จะมอบเพชรให้พ่อค้ายา ...แต่ในกรณีนี้ เพชรดันมาหายตอนที่อยู่ในมือคนกลางอย่าง Lomax 

ตอนแรก Elizabeth ปฏิเสธ 

แต่ต่อมา Ibrahim โดนวัยรุ่นเหลือขอทำร้ายร่างกาย เพื่อขโมยโทรศัพท์ ถึงแม้ตำรวจจะรู้ว่าวัยรุ่นที่ก่อเหตุคือ Ryan Baird ...แต่กฎหมายทำอะไรไม่ได้มาก ไม่มีหลักฐานกล้องวงจรปิดในบริเวณนั้น Ryan เลยรอดคุก เดินออกไปสวยๆ 

Elizabeth เลยตกลงช่วย Douglas เพื่อเอาเงินมาแก้แค้นให้ Ibrahim -- วิธีโครตลงทุน โดยการซื้อโคเคนล็อตใหญ่ แล้วแอบวางไว้ในห้องน้ำในบ้าน Ryan แล้วก็แจ้งตำรวจมาจับ 

เหมือนเรื่องจะจบ แต่กลายเป็นว่า Douglas พร้อมผู้คุ้มกันถูกยิงเสียชีวิต โดย Lomax ไม่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้สั่งฆ่า ...และตอนนี้ที่ซ่อนเพชรก็หายไปกับการตายของ Douglas

Elizabeth ต้องไขปริศนา หาเพชรให้เจอ และคลายความแคลงใจว่าตกลง Douglas ตายจริงไหม หรือแกล้งตายเหมือนที่เคยทำมาก่อน

ขณะเดียวกัน Ryan Baird ที่โดนจับข้อหามีโคเคนในครอบครอง ก็ดันหนีประกันตัว หายเข้ากลีบเมฆ แก๊งส์ผู้สูงวัย Thursday Murder Club ก็ต้องร่วมกันไขปริศนาตาม Ryan กลับมารับโทษให้ได้

Sunday, June 9, 2024

Such a Quiet Place

 



หนังสือชื่อ  :  Such a Quiet Place

ผู้แต่ง  :  Megan Miranda

สำนักพิมพ์  :  Corvus


สนุกค่ะ อ่านเสียการเสียงาน เรื่องไม่ยาวมาก เดินเรื่องเร็ว ตัวละครไม่เยอะ แต่พลิกไปพลิกมา และเดาแทบไม่ออกว่าใครคือฆาตกรตัวจริงกันแน่

เรื่องเกิดขึ้นที่หมู่บ้านชื่อ Hollow's Edge ในอเมริกา เป็นหมู่บ้านที่มีกันแค่ 10 หลังเองค่ะ (ในหนังสือมีแผนที่แสดงที่ตั้งของบ้านให้) คนในหมู่บ้านอยู่กันมานาน ส่วนใหญ่ทำงานในวิทยาลัย หรือที่โรงเรียนใกล้ๆ คือเป็นทั้งเพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมงานที่ทำงานที่เดียวกัน หมู่บ้านที่เงียบสงบ ลูกบ้านเป็นคนมีการศึกษา ช่วยเหลือกัน และสอดส่องความปลอดภัยของกันและกัน เป็นยิ่งกว่าเพื่อน เป็นยิ่งกว่าคนในครอบครัว รู้ทั้งด้านมืดและด้านสว่างของกันและกัน ... จนกระทั่ง เกิดคดีฆาตกรรมยกครัวในบ้านหลังหนึ่งเมื่อ 14 เดือนก่อน และผู้ต้องสงสัยก็คือเพื่อนบ้านนั่นเอง

เรื่องเล่าในมุมของ Harper ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านติดกับบ้านของ Brandon & Fiona Truett สองสามีภรรยาที่เสียชีวิตไปเมื่อปีก่อน ทั้งคู่เสียชีวิตด้วยคาร์บอนมอนออกไซต์ มีคนติดเครื่องยนต์รถของ Fiona ที่จอดในโรงรถในบ้าน และควันเข้าไปในบ้าน ทั้งคู่นอนอยู่ชั้นล่าง เสียชีวิตจากการได้รับก๊าซคาร์มอนมอนออกไซต์

Harper เป็นคนเจอศพ เพราะเนื่องจากเธออยู่บ้านติดกัน เลยได้ยินเสียงหมาของเพื่อนบ้านเห่าทั้งวัน อารมณ์รำคาญ เลยไปเคาะประตูเพื่อคุยกับเพื่อนบ้าน ...กลายเป็นแจ็คพอตเจอศพ 

คนในหมู่บ้านสงสัยว่าการตายของสองสามีภรรยา Truett เป็นการฆาตกรรมค่ะ เพราะตัววัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ของบ้านหลังนั้นหายไป สงสัยว่าฆาตกรจะถอดไป 

ทุกคนพากันสงสัย Ruby Fletcher เพื่อนร่วมบ้านของ Harper เพราะ Ruby ออกไปนอกบ้านคืนนั้น กล้องวงจรปิดหน้าบ้านของหนึ่งในลูกบ้านบันทึกไว้ รวมถึงคำให้การของ Harper ว่าได้ยินเสียง Ruby กลับเข้าบ้านทางหลังบ้าน และอาบน้ำตอนตีสอง

Ruby เป็นที่รู้จักของคนในหมู่บ้านมานานแล้วค่ะ ก่อนที่เธอจะย้ายมาอยู่กับ Harper ด้วยซ้ำ เคยเป็นนักศึกษาในวิทยาลัย เดินเข้าเดินออกหมู่บ้าน รับจ้างพาหมาเดินเล่น หรืออะไรๆ เล็กๆ น้อยๆ ตามแต่ที่คนในหมู่บ้านจะจ้าง และก็ตามจีบ Mac หนึ่งในสมาชิกในหมู่บ้าน 

Ruby ย้ายมาอยู่กับ Harper หลังจากที่วันหนึ่ง Aiden จู่ๆ ก็ขอแยกทางกับ Harper และที่ช็อค Harper มากที่สุดคือดูเหมือนเธอจะเป็นคนสุดท้ายที่รู้เรื่องว่าผัวตัวเองจะขอเลิก ดูเหมือนเพื่อนบ้านที่สนิทกับเธอที่สุดก็รู้ก่อนเธอเสียอีก 

--

Ruby ถูกจับ ติดคุกอยู่ 14 เดือน และต่อมาศาลปล่อยตัวเพราะหลักฐานอ่อน ... และ Ruby ตัดสินใจกลับมาที่ Hollow's Edge อีกครั้ง กลับมาอยู่กับ Harper

หนังสือบรรยายถึงความช็อค ความเคลือบแคลงใจของ Harper ว่า Ruby มีเจตนาอะไร ทำไมจึงกลับมายังสถานที่ที่ทุกคนปรักปรำเธอ (รวมถึงตัว Harper เองด้วย) .. คนอ่านจะรู้สึกว่า Harper เป็นพวกใจดี แต่เป็นพวกไม่กล้าทำอะไรเด็ดขาด ไม่กล้าทำร้ายจิตใจใคร ในขณะ Ruby เป็นพวกฉวยโอกาสจากคนที่อ่อนแอกว่า 

.

สนุกและได้ข้อคิดอะไรดีๆ จากหนังสือเล่มนี้ ความน่ากลัวของพลังแห่งกลุ่ม ความที่แต่ละคนต่างเจตนาดี แต่พอรวมเป็นกลุ่ม ขับเคลื่อนและสร้างระบบขึ้นมา และกลุ่มเริ่มเล่นบทผู้พิพากษา ตัดสินคนอื่น จนทำลายชีวิตของคนๆ หนึ่งได้เลย .... อย่างในกรณีนี้ มันง่ายที่ทุกคนจะเบลมและสงสัยว่า Ruby เป็นฆาตกร เพราะ Ruby คือคนเดียวในหมู่บ้านที่ไม่ใช่เจ้าของบ้าน เป็นกึ่งๆ ผู้เช่าและแขกระยะยาว ...เมื่อเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น เราก็ไม่อยากโทษคนที่เรารู้จัก ดังนั้นจึงง่ายกว่าที่จะชี้นิ้วกล่าวหาคนนอก 




Thursday, June 6, 2024

Humble Pi

 


หนังสือชื่อ  :  Humble Pi : A Comedy of Maths Errors

ผู้แต่ง  :  Matt Parker

สำนักพิมพ์  :  Penguin Books


ได้ความรู้ถึงความผิดพลาดต่างๆ จากนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการคำนวณพลาดทางคณิตศาสตร์ แต่หนังสือภาพไม่ชัดมากๆ ค่ะ ภาพเล็ก และเนื่องจากเป็นหนังสือกระดาษ ดังนั้นจะซูมดูภาพให้ชัดๆ ก็ไม่ได้ (เป็นภาพขาว-ดำ) เนื้อหาบางเรื่องก็เกินเข้าใจ ผู้เขียนพยายามอธิบายแต่เป็นการอธิบายด้วยการเขียน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจได้ ... เอาเป็นว่าถ้าอ่านเอาสนุก เสริมปัญญาก็แนะนำค่ะ 

หนังสือเร่ิมด้วยการบอกว่า มนุษย์เราไม่เก่งในการประเมินตัวเลขจำนวนมากๆ คือเราจินตนาการได้ว่า 10 หรือ 100 หรือ 1,000 เยอะแค่ไหน แต่ถ้าจำนวนมันใหญ่ขึ้นเป็น ล้านล้าน เรานึกไม่ออกค่ะ เรารู้แค่ว่ามันเยอะมาก แค่นั้น 

ค่ากลางระหว่างเลข 1 กับ 9 คือ 5 คนที่ตอบ 5 คือคนที่เคยเรียนคณิตศาสตร์ บวกลบคูณหารเลขเป็นค่ะ แต่ถ้าเอาคำถามนี้ไปถามเด็กน้อยที่ยังไม่เข้าโรงเรียน คำตอบจะคือ 3 ... ที่เป็นเช่นนี้เพราะการรับรู้เรื่องจำนวนตัวเลขของคนเราไม่ได้เป็นเส้นตรง

หนังสือเล่าถึงความผิดพลาดที่เกิดจากการใช้ปฏิทินคนละแบบกัน ทำให้ทีมชาติรัสเซียพลาดการร่วมแข่งขันโอลิมปิกในปี 1908 ที่ลอนดอนเป็นเจ้าภาพ

หรือปัญหา Y2038 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 มกราคม ปี 2038 เวลา 3.14 am ชิปในเครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์จะหยุดทำงาน เพราะหน่วยความจำที่ใช้เก็บเวลาในเครื่องหมด (หน่วยความจำที่เก็บเวลาใช้ 32-bits และนับมาตั้งแต่ปี 1970 ดังนั้นจึงจะหมดเวลาลงในปี 2038) 

หนังสือเล่าเรื่องความผิดพลาดทางวิศวกรรม มีการเปลี่ยนแบบสร้างสะพานระหว่างก่อสร้าง แล้ววิศกรลืมคำนวณค่าบางอย่างที่ควรเปลี่ยนเมื่อแบบเปลี่ยน 

หรือการที่ผู้ใช้ใช้ excel เก็บข้อมูลสำคัญ ทำเหมือนเป็น database และความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น เพราะ excel ไม่ใช่ database ไม่ว่าจะเป็นทศนิยม หรือ autocorrect ใน excel ที่สร้างปัญหา

ผู้เขียนเล่าเรื่องที่เขาพยายามชี้แจงกับทางราชการว่า ป้ายลูกฟุตบอล (ผู้เขียนอยู่อังกฤษ) ที่ชี้แนะนำสนามฟุตบอลทั่วอังกฤษนั้นไม่ถูกต้อง ลูกฟุตบอลจริงๆ ประกอบด้วยทรงห้าเหลี่ยมมาต่อๆ กัน แต่ในป้ายจราจรเป็นหกเหลี่ยม รูปหกเหลี่ยมไม่สามารถต่อกันเป็นลูกฟุตบอลได้ ดังนั้นป้ายจราจรนี้จึงไม่ถูกต้องตามหลักคณิตศาสตร์ ... แต่เทศบาลก็ไม่นำพาค่ะ เพราะการเปลี่ยนใช้เงินงบประมาณมากกว่าการปล่อยให้ผิดไปอย่างนั้น

หรือบทที่ว่าด้วยการโฆษณาเกินจริงของร้านค้าต่างๆ เช่น แมคโดนัลเคยโฆษณาว่ารายการอาหารของร้าน สามารถออเดอร์ผสมเป็นเมนูได้กว่า 40,312 เมนู แต่นักคณิตศาสตร์แย้งว่า จริงๆ แล้วทำได้แค่ 256 เมนูเท่านั้น 

หรือปัญหา roll-over error คือถ้าความจุเต็ม มันจะวนกลับมา 0 อีกครั้ง จึงทำให้ Whatsapp group ต้องจำกัดว่ามีแชทในกลุ่มได้ไม่เกิน 256 คน

หรือบทที่ว่าด้วยเรื่องหน่วย การคำนวณที่ใส่หน่วยพลาด ทำให้เครื่องบินต้องลงจอดฉุกเฉินมาแล้ว เนื่องจากช่างคำนวณและเติมน้ำมันเครื่องบินในหน่วยปอนด์ที่คุ้นเคย แทนที่จะเป็นกิโลกรัมตามข้อปฏิบัติมาตรฐาน 

ส่วนตัวคิดว่าบทที่สนุกที่สุดคือ เรื่องการสุ่มค่ะ การสุ่มมีความสำคัญมากในการเขียนโปรแกรม แต่การสุ่มอย่างไรให้สุ่มจริงๆ เราต้องมีการสุ่มทางกายภาพ มีเครื่องสุ่มจริงๆ เช่น ทอยเหรียญ ทอยลูกเต๋า ฯลฯ เพราะการสุ่มโดยคอมพิวเตอร์ สามารถทำนายได้  

ผู้เขียนเล่าเรื่องการป้องกันความผิดพลาด เปรียบความผิดพลาดเหมือนรูในสวิตส์ชีส เอาแผ่นชีสมาวางทับๆ กัน ยากมากที่รู้ในชีสจะตรงกันจนมองทะลุ ...ก็เหมือนความผิดพลาดหากมีการทวนสอบตามขั้นตอน ก็ยากมากที่ความผิดพลาดนั้นจะหลุดไปจนสร้างความเสียหายได้ --- แต่ขณะเดียวกัน มีความผิดพลาดอีกอย่างที่เปรียบเหมือนการหยดของร้อนลงบนชีส ของร้อนก็ทะลุลงข้างล่างได้ เปรียบเหมือนความผิดพลาดของอุปกรณ์ที่ระบบป้องกันไม่ดีพอ เช่น error message อ่านไม่เข้าใจ หรืออุปกรณ์ไม่หยุดการทำงานเมื่อไม่ปลอดภัยและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เป็นต้น

สนุกค่ะ แต่อย่างที่เขียนไป ไว้อ่านเบาๆ ประดับความรู้ค่ะ ไม่ได้ดีขนาดไว้อ่านเป็นหนังสืออ้างอิงวิชาการอะไรจริงจัง