หนังสือชื่อ : Trick Mirror
ผู้แต่ง : Jia Tolentino
สำนักพิมพ์ : HarperCollins Publishers
เล่มนี้เป็นบทความค่ะ ถือว่าอ่านได้เรื่อยๆ เพลินๆ ค่ะ ... เป็นบทความที่ผู้เขียนพรรณาความคิดเห็นของตนเอง และเล่าประสบการณ์ของตนเองประกอบในเรื่องต่างๆ บางเรื่องเราคนอ่านก็เห็นด้วย บางเรื่องก็เข้าไม่ถึง เพราะผู้เขียนเน้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอเมริกา คนอ่านไม่ได้อยู่อเมริกา ดังนั้น บุคคลสำคัญ หรือข่าวที่ผู้เขียนยกมา หลายคนเราก็ไม่เคยรู้จัก เพราะไม่ได้ตามข่าวภายในประเทศอเมริกาละเอียดขนาดนั้น
หนังสือแบ่งเป็นบทความเรื่องต่างๆ ค่ะ ได้แก่
The I in the internet
ผู้เขียนเขียนเล่าว่า การมีอยู่ของอินเตอร์เน็ตทำให้สังคมเปลี่ยนไป คือ เราใส่ "ตัวตน" ของเราลงไปในข่าวสารเรื่องราวที่เรารับรู้
ผู้เขียนยกตัวอย่างเช่น นักเขียนพยายามเรียกร้องความสนใจของคนอ่านด้วยการเขียนในประเด็นร้อนแรง ประเด็นที่หลายคนไม่เห็นด้วย ทำให้คนอ่านเกลียด และวิพากวิจารณ์งานเขียน ... ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานเขียนที่ประสบความสำเร็จ เพราะมีคนอ่านเยอะ ยิ่งเกลียดยิ่งได้แสง
ความหมายของความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความหมายนี้ก็เปลี่ยนไปเมื่อมีอินเตอร์เน็ต กลายเป็นว่ามีการใส่ "ตัวตน" ความเป็นตัวเองลงไปในที่ระดับของความสามัคคี
โซเชียลมีเดียถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานที่ว่า ทุกใดๆ จะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อมันมีความสำคัญสำหรับเรา (หรือมีความเชื่อมโยงกับเรา) ... มี "ตัวตน" ของเราเข้ามาในอินเตอร์เน็ต... นี่คือเหตุผลที่ เราให้รู้สึกเชื่อมโยงกับกระรอกที่ตายอยู่หน้าบ้านเรา มากกว่าเด็กที่กำลังอดตายที่แอฟริกา ... เพราะเด็กที่แอฟริกามันไกลไงคะ เรารู้ข่าว เราเศร้าก็จริง แต่กระรอกหน้าบ้านเราเห็นไง มันมาตายอยู่หน้าบ้านเราง่ะ
เหตุที่ทำให้คน "ติด" โซเชียลมีเดีย เพราะสิ่งที่เราเสพย์จากมันคือส่ิงที่ไม่สมบูรณ์ และไม่น่าพอใจค่ะ ดังนั้นเราจึงไถหน้าจอไปเรื่อยๆเพื่อให้รู้สึกพอใจ...เป็นเรื่องทางจิตวิทยา
Reality TV Meบทความตอนนี้ ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ที่เธอเคยร่วมเป็นผู้เล่นในรายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อ "Girls v. Boys: Puerto Rico" ค่ะ ตอนนั้นเธออายุ 16 ... ผู้เขียนเขียนในรูปของการย้อนรำลึกเหตุการณ์ในวัยเยาว์
ในรายการก็มีผู้ร่วมแข่งขันทั้งหมด 8 คน เป็นวัยรุ่นชายหญิงอย่างละ 4 คน แล้วก็ทำกิจกรรมแข่งขัน มีโหวตออก อารมณ์นั้น
เนื่องจากเป็นมุมมองของผู้ใหญ่ที่มองย้อนดูตัวเองสมัยวัยรุ่น ดังนั้นจึงให้ความรู้สึกหนึ่งค่ะ ก็อ่านได้เพลินๆ ดี ... เพียงแต่รู้สึกว่า ส่ิงที่พวกเธอทำในฐานะกลุ่มกระทำกับผู้เข้าร่วมแข่งขันคนหนึ่งที่อ่อนแอที่สุด ไม่น่ารักเลยค่ะ แต่มันคือชีวิตวัยรุ่นในเกมส์ที่ต้องแข่งขันกัน ใครดีใครได้
Always Be Optimizingบทความเกี่ยวกับการพยายามรักษาความงาม ด้วยการออกกำลังกาย และการรักษาภาพลักษณ์ในอุดมคติของผู้หญิงน่ะค่ะ เรื่องแฟชั่นการแต่งกายของผู้หญิง ... คือผู้เขียนทำงานเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารเกี่ยวกับเฟมินิสต์ ดังนั้นเธอจึงสอดแทรกความรู้สึกของผู้หญิงเฟมินิสต์ลงไปในงานเขียนของเธอแทบทุกบท (จนบางครั้งรู้สึกว่ามากเกินไป)
Pure Heroines
เรื่องของ "นางเอก" ในหนังสือต่างๆ ... นางเอกในที่นี้คือตัวละครหญิงที่มีบทบาทสำคัญในหนังสือค่ะ
ผู้เขียนยกตัวอย่าง ชื่อของนางเอก และบทบาทของเธอในหนังสือ ซึ่งบทบาทของนางเอกก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้เขียนยกตัวอย่างหนังสือตั้งแต่สมัยเก่า มาจนถึงยุคปัจจุบัน ... เกือบทุกเล่มไม่เคยอ่านค่ะ ไม่ใช่แนวที่ชอบอ่าน
Ecstasyยาอี ค่ะ ผู้เขียนเขียนเล่าประสบการณ์พื้นเพของตนเองที่มาจากครอบครัวผู้อพยพ พ่อแม่เป็นคนฟิลิปปินส์ ย้ายมาอยู่แคนาดา แล้วก็ย้ายอีกครั้งมาอยู่อเมริกา ครอบครัวเป็นครอบครัวเคร่งศาสนา ตัวเธอตอนเด็กๆ ก็ตามพ่อแม่ไปโบสถ์ จนกระทั่งเป็นวัยรุ่นจึงได้ห่างศาสนา
ผู้เขียน เขียนในแนวเชื่อมโยงประสบการณ์ความรู้สึกปิติยินดีในทางศาสนา เข้ากับความรู้สึกปิติในขณะเสพยา (คือตามคำบรรยาย มันดูจะเป็นประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกัน)
อ่านได้เพลินๆ ค่ะ ตัวเองไม่มีประสบการณ์ร่วม เนื่องจากไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ จึงเข้าไม่ถึงถึงความรู้สึกของการสัมผัสพระเจ้าในทางศาสนาคริสต์ และไม่เคยใช้ยาเสพติดแบบนั้น ก็เลยเข้าไม่ถึงประสบการณ์นั้นเช่นกัน
The Story of a Generation in Seven Scamsเขียนเล่าเรื่องสแกมเมอร์ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ตั้งแต่
The Crash - ที่นำพามาสู่วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกา และนายธนาคารที่ก่อเรื่อง กลับไม่ได้รับโทษใดๆ เพราะกฎหมายสหรัฐไม่มีบัญญัติโทษไว้
The Student Debt Disaster - หนี้เพื่อการศึกษา ในอเมริกาเป็นหนี้ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศค่ะ (รองจากหนี้บ้าน) เหตุผลเพราะค่าเล่าเรียนแพงขึ้นๆ แต่ในทางกลับกัน ความมั่นคงในหน้าที่การงานกลับลดลง คือเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องยากมากที่คนทำงานจะได้รับสัญญาว่าจ้างระยะยาว ส่วนใหญ่ได้แค่สัญญาระยะสั้นกันเท่านั้น
The Social Media Scam - เรื่องของเฟสบุ๊ก และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่ต้องการข้อมูลของผู้ใช้ เพื่อต่อยอดในการโฆษณา หรือหวังผลด้านอื่นๆ
The Girlbosses - Girlbosses เป็นชื่อแบรนด์ที่มีคนก่อตั้งเป็นผู้หญิงค่ะ โฆษณาตัวเองในภาพลักษณ์เฟมินิสต์ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของผู้หญิง ...แต่จริงๆ แล้วเป็นแค่คำโฆษณา ความจริงคือสภาพการทำงานลูกจ้างแย่มาก และไม่ได้ปกป้องสิทธิของลูกจ้างหญิงแต่อย่างใด เป็นแค่การขายความเป็นเฟมินิสต์เท่านั้น
The Really Obvious Ones - เกี่ยวกับบริษัทสตาร์จอัพที่ขายสินค้านวัตกรรมต่างๆ ซึ่งบางอย่างก็ก่ำกึ่งว่าไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ดีกว่าอย่างที่โฆษณาแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่เหมือนการหลอกเอาเงินนักลงทุนเท่านั้น เช่น Juicero บริษัททำเครื่องบีบถุงบรรจุน้ำผลไม้ สุดท้ายก็ถูกแฉว่า บีบกับมือยังได้เร็วกว่าเลย พอโดนแฉ ก็เลยไม่มีใครลงทุนเพิ่ม ก็ขาดสภาพคล่อง คนที่ลงทุนไปแล้วก็เลยสูญเงิน หรือกรณีของ Elizabeth Holmes เจ้าของบริษัท Theranos ที่โฆษณาว่าสามารถตรวจสุขภาพทุกโรคได้ด้วยเลือดเพียงหยดเดียว ... ซึ่งบริษัทของเธอประสบความสำเร็จมาก มีคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุนมากมาย ... แต่สุดท้ายก็ถูกแฉว่าทั้งหมดเป็นเรื่องหลอกลวง
The Disruptors - บริษัทเทคโนโลยีที่กล่าวขานว่าเป็นผู้ disruptors อย่างเช่น Uber, Amazon, หรือ Airbnb ซึ่งบริษัทเหล่านี้ทำเงินได้มหาศาล แต่สภาพการทำงานของพนักงานของบริษัทกลับย่ำแย่ ถูกเอาเปรียบ
The Election - ผู้เขียนเขียนถึงการเลือกตั้งของอเมริกา ที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีค่ะ ผู้เขียนไม่ชอบทรัมป์ และมองว่าประวัติที่ผ่านมา พิสูจน์ว่าทรัมป์ก็คือสแกมเมอร์คนหนึ่ง
We Come from Old Virginiaผู้เขียนเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย และในปี 2014 มีบทความเขียนเรื่องแก๊งส์ข่มขืนข่มขืนนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัย ... ต่อมาพิสูจน์ได้ว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง แหล่งข่าวไม่น่าเชื่อถือค่ะ แหล่งข่าวไม่สามารถพิสูจน์ความจริง หรือแสดงหลักฐานให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง
ผู้เขียนเชื่อมโยงให้เห็นว่า ทำไมคนจึงเชื่อบทความนี้ในตอนแรก ... เหตุก็เพราะมหาวิทยาลัยฯ นี้ มีประวัติของการใช้ความรุนแรงทางเพศของเพศชายเกิดขึ้นในอดีต ... ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย Thomas Jefferson ที่มีความสัมพันธ์กับทาส ตั้งแต่ทาสคนนั้นอายุแค่ 14 ในขณะที่เขาอายุ 44 (อายุห่างกันตั้ง 30 ปี!) ... คือมันมีข่าวความรุนแรงทางเพศ การมีเซ็กส์โดยไม่ยินยอมในมหาวิทยาลัยนี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีต รวมถึงความจริงที่ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นัก จากสถิติที่แทบไม่มีนักศึกษาถูกลงโทษอย่างรุนแรงจากพฤติกรรมนี้เลย
ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง ของการถูกล่วงละเมิด แต่ไม่กล้าที่จะบอกใคร หรือพยายามจะบอกแล้ว แต่ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ... ในสมัยที่เธอเป็นอาสาสมัครที่ประเทศคีร์กีซสถาน เธอโดนเจ้าของบ้านผู้ชายลวนลาม ...
... ในบทความ เราไม่เห็นด้วยกับเธอ ในตอนที่เธอมองว่า ผู้หญิงที่โดนล่วงละเมิด เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว กลับเกิดความกลัวและเปลี่ยนใจ ซึ่งทำให้คำในการของเธอไม่น่าเชื่อถือ ... เรากลับมองว่า "คนที่รับเรื่อง" ต่างหาก คนรับเรื่องไม่อยากมีเรื่องต่างหาก ในขณะที่ทุกอย่างกำลังดำเนินไปอย่างสงบสุข จู่ๆ มีเรื่องการล่วงละเมิด บางกรณีคนที่กระทำเป็นคนน่าเชื่อถือ คนรับเรื่องจึงไม่อยากทำลายบรรยากาศความสงบสุขนั้น จึงพยายามพูด หรือแสดงที่ท่าไม่เชื่อถือคำพูดของคนโดนกระทำ ทำให้คนถูกกระทำเสียความมั่นใจ และทุกอย่าง (ในภายนอก) ก็จะกลับมาดูสงบสุขอีกครั้ง
The Cult of the Difficult Womanเขียนเรื่องผู้หญิงที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่คนส่วนใหญ่ "รักที่จะเกลียด" เช่น Kim Kardashian, Britney Spears เป็นต้น ผู้หญิงเหล่านี้ถูกมองว่า แตกต่าง น่าหมั่นไส้ มั่นเกินไป สวยเกินไป รวยเกินไป ฯลฯ แต่พอพวกเธอจบชีวิตลง เช่น Amy Winehouse, Whitney Houston พอถึงตอนนั้น คนกลับพูดถึงแต่เรื่องดีๆ ของเธอ กลายเป็นผู้หญิงอาภัพ น่าเห็นใจ ... (ทำไมไม่พูดถึงเธอดีๆ เมื่อตอนที่เธอยังมีชีวิตอยู่?)
ผู้เขียนเขียนถึงผู้หญิงของทรัมป์ ผู้หญิงที่ทำงานให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ การที่พวกเธอก้าวขึ้นมาในตำแหน่ง การที่เธอใช้ค่านิยมเฟมินิสต์ให้เป็นประโยชน์กับตัวเธอ ... แต่พวกเธอไม่ใช่เฟมินิสต์ และไม่ได้สนใจเรื่องนี้ด้วย
I Thee Dreadผู้เขียนเล่าเรื่องความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่อยากแต่งงาน และมองว่าการแต่งงานเป็นเรื่องสิ้นเปลืองอย่างเปล่าประโยชน์ เชื่อมโยงที่มาของค่านิยมของการแต่งงานที่เจ้าสาวต้องใส่ชุดสีขาว ฟูฟ่อง และแหวนเพชรคือแหวนหมั้นแทนรักนิรันดร์
คือเรามองว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของเธอน่ะ มันควรจะแยกกันระหว่าง "การจัดการแต่งงาน" ที่ผู้เขียนมองว่าสิ้นเปลือง กับ "การจดทะเบียนสมรสทางกฎหมาย" ซึ่งผู้เขียนมองว่าในอดีตมันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ... แต่ปัจจุบัน อเมริกาอนุญาตให้สมรสเพศเดียวกันได้แล้ว และสามารถยังคงใช้นามสกุลเดิมได้ด้วย ดังนั้นการจดทะเบียนสมรสจึงไม่ใช่เรื่องของความไม่เท่าเทียมกันอีกต่อไป .. ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนไม่สามารถเขียนโน้มน้าวให้คนอ่านรู้สึกได้ว่า ทำไมเธอจึงต่อต้านมัน
ประเด็นหนึ่งที่เธอไม่เขียนถึงเลยคือ "การเป็นแม่" คือเธอต่อต้านการแต่งงาน มีแฟน แต่ไม่ต้องการแต่งงานกับแฟน ซึ่งอาจแปลว่า เธอไม่ต้องการเป็นแม่ ... แต่เธอไม่เขียนถึงเลย จริงๆ แล้วประเด็นนี้ต่างหากที่น่าสนใจ